ดูแบบคำตอบเดียว
เก่า 22-04-2013   #1
NuRay
Senior Member
 
NuRay's Avatar
 
วันที่สมัคร: Sep 2011
ข้อความ: 954
บล็อก: 7
ถ่ายทอดพลัง: 1,013
คะแนนหรอย: 588
Default เรียนดอกไม้ประจำชาติอาเซียน แต่รู้ทั้งประชาคมอาเซียน!!!

เป็นคนที่รักดอกไม้อยู่แล้วเลยมาทำให้ความรู้เรื่องดอกไม้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนเสียเลย สำหรับพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ เนื่องจากอาเซียนของเราจะมีดอกไม้ประจำชาติอาเซียนกันอยู่แล้วก็เลยบูรณาการณ์เอาไว้ด้วยกันเลย ทั้งให้ความรู้เรื่องดอกไม้และก็ให้ความรู้เรื่องประชาคมอาเซียนให้เด็กที่เขาชมด้วยเสียเลย เรียกว่าเป็นไอเดียความคิดเล็กๆที่ดีมากเลยคะ ใครอยากลองเอาไปใช้กับสายตัวเองบางก็เลยทำกันดูจ้าา



อีกไม่ถึง 2 ปี แผ่นดินอาเซียนจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ไทยจะก้าวไปไกลแค่ไหน ไม่มีใครรู้ได้

แต่เด็กๆ ในชุมชนแห่งนี้มีความพร้อม พวกเขาเรียนรู้อาเซียนผ่านดอกไม้ประจำชาติ

"ดอกบัว เป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศใดในอาเซียน ใครตอบได้ยกมือขึ้น" พี่สต๊าฟ ฝ่ายสันทนาการถามขึ้น

"พม่าค่ะ" "เวียดนามค่ะ" "ลาวครับ" "มาเลเซียครับ" เด็กๆ แย่งกันตอบ พร้อมชูมือหราอยู่กลางอากาศ ท่ามกลางความสนุกสนานในบรรยากาศที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้เขียวครึ้ม และเก้าอี้กว่า 20 ตัวที่ล้อมวงสมาชิกทั้งน้อยใหญ่ให้รวมอยู่ด้วยกันตรงกลาง

. . .

เสียงหัวเราะที่เปล่งออกมาพร้อมคำตอบอันเจื้อยแจ้วของเด็กๆ ในชุมชนย่านบางกระบือ เขตดุสิต เป็นไปด้วยความสนุกสนาน ขณะที่เล่นเกมตอบคำถามในหัวข้อเกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นความรู้ใหม่ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะประเทศไทยมีการกระตุ้นให้ทุกคนเตรียมตัวและตระหนักถึงการรวมตัวของประชาคมอาเซียนมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว

แต่วันนี้ ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า ไทยแลนด์พร้อมเต็มร้อยที่จะก้าวเข้าสู่สังคมที่กว้างขึ้น สังคมที่ไม่ได้มีแค่คนไทย แต่ยังมีเพื่อนร่วมอาเซียนอีก 9 ประเทศที่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน นั่นทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาแสดงความเป็นห่วงต่อการเตรียมความพร้อมของคนไทยว่า วันนี้พร้อมหรือไม่ที่จะก้าวสู่เวทีอาเซียน

ที่ผ่านมา จึงมีการใส่บทเรียนเรื่องอาเซียนกันอย่างเข้มข้นขึ้น รวมถึงมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้รับรู้ถึงมิติต่างๆ ของอาเซียนให้ครอบคลุมมากที่สุด และหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กในชุมชนที่มีโอกาสน้อย(แต่ไม่ถึงกับด้อยโอกาส) ได้มีส่วนร่วมทางการเรียนรู้ในประเด็นของอาเซียนได้มากขึ้น ก็คือ การเรียนรู้อาเซียนผ่านวัฒนธรรมของดอกไม้ที่มีอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้

ดอกเอ๋ย ดอกไม้

'พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้' กลายเป็นลานกิจกรรมของเด็กๆ ไปโดยปริยาย เนื่องด้วยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แทรกตัวอยู่กลางชุมชน ประชาชนในย่านนี้จึงรู้จักที่นี่กันแทบทุกคน และเมื่อผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ มีแนวคิดอยากจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้อาเซียนผ่านวัฒนธรรมดอกไม้ให้แก่เยาวชน จึงได้รับการตอบรับจากผู้ปกครองและน้องๆ เป็นอย่างดี

สกุล อินทกุล คือผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ คนที่ว่า ทั้งยังเป็นศิลปินนักจัดดอกไม้ที่มีฝีมือโด่งดังไปไกลระดับโลก เขาเล่าย้อนถึงต้นกำเนิดของพิพิธภัณฑ์วัฒธรรมดอกไม้แห่งแรกและแห่งเดียวในโลกว่า จุดเริ่มต้นนั้นมาจากการที่ได้ลงมือทำหนังสือดอกไม้ไทยออกมา เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่พระองค์เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 77 พรรษา ซึ่งครั้งนั้นก็ทำให้มีข้อมูล เรื่องราว รูปภาพ และข้าวของที่เกี่ยวกับงานวัฒนธรรมดอกไม้ที่ได้สืบค้นมาอยู่ในมือมากมาย จึงเกิดไอเดียว่า อยากจะทำให้สิ่งของเหล่านี้มาถ่ายทอดความรู้ไปสู่คนในชุมชนของตนเอง

และเนื่องด้วยคำว่า 'วัฒนธรรมดอกไม้' หมายถึง การใช้ดอกไม้ในวิถีชีวิตของผู้คน ในแต่ละจังหวะของชีวิตที่คนเราจะมีการใช้ดอกไม้ที่แตกต่างกันไป มีการบูชา การไหว้ การใช้ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ศิลปินคนนี้อยากผูกโยงเรื่องการใช้ดอกไม้ของไทยไปสู่ดอกไม้ของชาติสมาชิกอื่นๆ ในอาเซียนบ้าง โดยเริ่มจากการเรียนรู้ดอกไม้ประจำชาติ ได้แก่ ดอกซิมปอร์ บรูไน, ดอกลำดวน กัมพูชา, ดอกกล้วยไม้ราตรี อินโดนีเซีย, ดอกจำปาลาว สปป.ลาว, ดอกพู่ระหง มาเลเซีย, ดอกพุดแก้ว ฟิลิปปินส์, ดอกกล้วยไม้แวนด้า สิงคโปร์, ดอกราชพฤกษ์(ดอกคูน) ไทย, ดอกบัว เวียดนาม และ ดอกประดู่ พม่า

"ดอกไม้มันเป็นเรื่องที่ทุกคนชอบอยู่แล้ว เห็นแล้วมันชื่นใจ ที่นี่จะมีอยู่ห้องหนึ่งเรียกว่าโลกแห่งวัฒนธรรมดอกไม้ เราจัดแสดงวัฒนธรรมดอกไม้ของหลายประเทศในอาเซียน มีลาว มาเลเซีย กัมพูชา หรือแม้แต่จีนกับอินเดียก็มี เพราะอาเซียนเองก็มีวัฒนธรรมที่มาจากอินเดียหรือจีน เพราะฉะนั้นมันก็กลายเป็นเรื่องราวที่ผูกร้อยเอาคนในอาเซียนไว้ทั้งหมดด้วยดอกไม้เหล่านี้"

ส่วนเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ สกุลบอกว่า อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็จะเกิดจุดประกายว่า ตอนนี้ต้องตระหนักเรื่องอาเซียน ได้เริ่มเรียนรู้ง่ายๆ จากดอกไม้ประจำชาติของแต่ละประเทศก่อน จากนั้นเขาจะสามารถไปเรียนรู้ในแง่มุมอื่นจากแหล่งอื่นๆ ต่อไป ที่สำคัญเด็กๆ จะได้รับรู้ว่าแม้จะอยู่ในชุมชนเล็กๆ แต่ก็มีสถานที่แห่งนี้ที่พวกเขาสามารถมาเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกันได้

วาเลนไทน์กับดอกไม้ไทยๆ

นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องอาเซียนแล้ว การที่เยาวชนได้เข้ามาศึกษาเรื่องดอกไม้นั้น ก็ยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ดอกของไทยให้คงอยู่คู่ชาติต่อไป และยังช่วยลดทอนค่านิยมเรื่องการมอบดอกไม้ราคาแพงให้แก่กันในวันวาเลนไทน์ที่กำลังจะมาถึง ให้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

"วันนี้เยาวชนเราเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก ซื้อดอกกุหลาบแพงๆ ให้กัน การที่เยาวชนของเรามาที่นี่ จะทำให้เขารู้คุณค่าของดอกไม้ไทย เหมือนได้ปลูกจิตสำนึกให้เขาว่า จริงๆ วาเลนไทน์มันสามารถมีได้ทุกวัน เราสามารถมอบดอกไม้ให้แก่กันได้ทุกวัน ยิ่งเป็นดอกไม้ไทย ก็ยิ่งดี เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ดอกไม้ไทย ได้รู้ว่าดอกไม้ชนิดนี้คือดอกไม้ประจำชาติของไทยเรานะ ให้รักและหวงแหนของตัวเองให้มาก ทำให้เขาหันมาใช้ของไทยๆ บ้าง ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันก็ยังได้เรียนรู้ดอกไม้ของเพื่อนสมาชิกในอาเซียนด้วย เพราะอย่าลืมว่าต่อไปเราต้องอยู่ร่วมกับชาติอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะเรียนรู้ไว้ให้มากขึ้น" มณี จิรโชติมงคลกุล ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตดุสิต บอก

และอีกประเด็นที่สำคัญคือ กิจกรรมในลักษณะนี้สามารถเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กๆ ให้หันมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในเวลาว่าง แทนที่จะฝังตัวอยู่ตามร้านเกม

"การที่จะดึงให้เด็กในชุมชนมาร่วมกิจกรรมนั้นค่อนข้างยาก เพราะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็เข้าร้านเกม แต่พอมีโครงการนี้ขึ้นมา ทางอาจารย์สกุลก็ประสานให้เราเข้ามาช่วย เราก็ตอบรับทันที เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ช่วยลดช่องว่างตรงนี้ได้ พอวันหยุดเด็กไม่ไปร้านเกมแล้ว เขามาร่วมกิจกรรมกับที่นี่แทน ถ้ามาครั้งแรกแล้วเขาชอบ เขาจะถามว่ามีจัดอีกไหม นี่แหละคือการปลูกฝังตั้งแต่ในจิตใจของเขาเลย และเป็นการเริ่มแก้ปัญหาจากฐานราก ไม่ใช่พอมีปัญหาเราไปแก้เฉพาะข้างบนอย่างเดียว มันไม่ได้" ผู้นำชุมชนอธิบาย

ทั้งยังบอกอีกว่า งานครั้งนี้เธอเป็นผู้ประสานไปยังทีมงาน ซึ่งทั้งหมดทำด้วยจิตอาสา เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ อยากเห็นชุมชนมีความเข้มแข็ง เห็นเด็กๆ มีความรู้เพิ่มขึ้น และสามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น

ผลิบานแบบ'บูรณาการ'

การเรียนรู้ครั้งนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือที่ดีจากผู้นำชุมชน ชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่ แต่จะให้ดีต้องได้รับการผลักดันและการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากองค์กรภาครัฐและเอกชนด้วย ซึ่งถือเป็นหน่วยหลักที่มีกำลังและศักยภาพมากพอที่จะมาร่วมปรึกษา หารือ และออกแบบกิจกรรมร่วมกับชุมชนแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดเป็นโมเดลแห่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

"เนื่องจากทำงานอยู่กระทรวงศึกษาธิการ ก็ดูในกรอบของกระทรวง ก็เห็นว่าเวลาเขากระตุ้นเรื่องอาเซียน เพื่อให้เด็กๆ ตื่นตัวเรื่องนี้ คิดว่าเด็กพอที่จะรู้ว่าปี 58 นี่จะเกิดอะไรขึ้น คงพอรู้ว่าอาเซียนคืออะไร และจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ทีนี้มีเรื่องของอัตลักษณ์และความหลากหลายในอาเซียนด้วย ตรงนี้ทางโรงเรียนส่งเสริมกันขนาดไหน ก็ต้องย้อนกลับมาถาม โดยภาพทั่วไปด้วยนะ ไม่ใช่แค่เยาวชน แต่คนไทยทั่วไปด้วยว่า อาจจะยังรับรู้ไม่เพียงพอ" ดร.รังสรรค์ วิบูลอุปถัมภ์ ผู้อำนวยการส่วนการศึกษา องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าว

ในฐานะผู้ออกแบบกิจกรรม ดร.รังสรรค์อธิบายถึงโมเดลของกิจกรรมครั้งนี้ว่า ไม่ใช่แค่ตัวเด็กจะได้ความรู้ ได้สนุก ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เท่านั้น แต่ในแง่ของคนทำงานก็ได้รับความรู้และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน(ผู้นำชุมชนและผู้ปกครอง) ภาครัฐ ภาคเอกชน และเด็กๆ ว่า เมื่อทุกหน่วยมาร่วมงานกันแล้ว สิ่งที่สะท้อนออกมาเป็นผลงานของเรานั้น มีข้อดีหรือข้อด้อยอย่างไร ต้องปรับปรุงตรงไหน เรียกว่าเป็นการทดลองการทำงานแบบบูรณาการที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

"เราจับเรื่องดอกไม้เรื่องเดียวก่อน เด็กจะเข้าใจละ แล้วเขาก็จะค่อยๆ สนใจเรื่องอื่น เรื่องภาษา การแต่งกาย ต่อเนื่องกันไป เหมือนมันเป็นประตูเข้าบ้าน เขาต้องเลือกเข้ามาประตูหนึ่งให้ได้ก่อน หลังจากนั้นเขาก็จะ Explore ได้เอง และได้ฝึกเรื่องของภาวะผู้นำด้วย มีการทำงานร่วมกัน มีการละลายพฤติกรรม หรือการล้อมวงเล่นเกม เขาจะได้มีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ส่วนทีมงานเองก็ได้เรียนรู้เรื่องการทำงานแบบบูรณาการ อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่คิดว่าใช่เลย ในการทำงานร่วมกับชุมชน ร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน มันเป็นเหมือนต้นแบบที่เรามาลองดูว่าเมื่อเรามาทำงานร่วมกัน เอาความรู้ของแต่ละฝ่ายมาบูรณาการร่วมกันแล้ว ผลออกมาดีแค่ไหน อย่างไร"

และเมื่อบูรณาการออกมาดีแล้ว เป้าหมายต่อไปของดร.รังสรรค์ คือ การนำเอาโมเดลนี้ไปถ่ายทอดสู่สถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้คนทำงานด้านเยาวชน ได้เห็นว่าประเทศไทยควรจะมีการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบนี้มากขึ้น ไม่เฉพาะประเด็นของอาเซียนเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้กับทุกๆ กิจกรรมของการเรียนรู้

สิ่งสำคัญคือเด็กๆ มีความสุข สนุกสนานไปกับการเรียนรู้ และทีมงานก็ได้รับรู้ว่า วันหยุดคราวนี้พวกเขาได้ทำงานที่มีคุณค่ากับตัวเองและสังคม ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับชุมชน ตรงนี้เองคือสิ่งที่คนทำงานจะได้รับกลับมา และได้มาเกินร้อย

--------------------
หมายเหตุ : สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้อาเซียนผ่านวัฒนธรรมดอกไม้ (สำหรับเด็กอายุ 7 - 14 ปี) ได้ทุกวันเสาร์ต้นเดือนของทุกเดือน สมัครได้ที่พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ สามเสน28 ซอยองครักษ์13 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เปิดวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 10.00 - 18.00 น. โทร 0 2669 3633- 4

ขอบคุณกรุงเทพธุรกิจ


บทความที่เกี่ยวข้อง : ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน




รูปขนาดเล็ก
ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน.jpg  
__________________

ชมรมคนรักน้อง Bailee Madison
NuRay is offline   ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
 

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74 75 76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94 95 96 97 98 99 100 101 102