View Full Version : เปิดประชาคมอาเซียน ก็เปิดหนังสือวรรณกรรมไทย


NuRay
22-04-2013, 09:12
วรรณกรรมไทยตอนนี้มีหลายเล่ม หลายเล่มสร้างชื่อเสียงในระดับที่ดีเลยทีเดียว(ทำงานด้านนี้มาเลยพอทราบ) ช่วงที่กำลังจะเปิดประชาคมอาเซียนมีคนพูดถึง หนังสือวรรณกรรมไทยที่จะได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆมากขึ้น ซึ่งทางประเทศไทยถือว่าเป็นการนำเงินเข้ามาในประเทศไทยอย่างดีเลยทีเดียว และหนังสือก็ถือว่าเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยที่มีอยู่อีกด้วย ประชาคมอาเซียนจะเปิดหรือไม่ถ้าเปิดหนังสือวรรณกรรมไทยจะเป็นอย่างไรลองอ่านกันดูจ้า

http://board.roigoo.com/attachment.php?attachmentid=6198&stc=1&d=1366597442 (http://board.roigoo.com/tags/%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1.html)


อย่าเพิ่งเบื่อกันเสียก่อนหากได้ยินคำว่า 'อาเซียน' อีกแล้ว โดยเฉพาะระยะนี้ต่อไปถึงปี 2558 ที่ภูมิภาคนี้จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันสำหรับด้านเศรษฐกิจอันเป็นตัวชูโรงในการจับมือจูบปากกันของประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ นั้นอาจนำมาซึ่งเม็ดเงินทั้งเข้าและออกมหาศาล การค้าการขายเป็นไปโดยเสรีมากขึ้น พ่อค้าวาณิชย์และผู้บริโภคไปมาหาสู่กันมากมาย แน่นอนว่าศิลปวัฒนธรรมที่ติดตัวกันมาย่อมได้เดินทางแลกเปลี่ยนกันด้วยเช่นกัน

วรรณกรรมก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ได้รับผลพลอยได้จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน...กว่าจะถึงปี 2558 ก็เกือบสองปีเต็ม แต่แค่เผลอไผลกาลเวลาก็อาจวิ่งไล่มาถึงโดยมิทันตั้งตัว วันนี้ฟันเฟืองในบรรณพิภพควรเตรียมตัวอย่างไร...ก่อนจะถึงวันนั้น

วรรณกรรม...สายสัมพันธ์ที่มาก่อน

เป็นที่ทราบกันดีว่ารางวัลวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้เป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก 'ซีไรต์' หรือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน ซึ่งปีนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 35 แล้ว เกิดขึ้นก่อนองค์การอาเซียนเสียด้วยซ้ำ และถือได้ว่ารางวัลนี้เป็นรางวัลเดียวในระดับภูมิภาคนี้

ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร อธิบายว่า "อาเซียนในความหมายของซีไรต์คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แรกเริ่มมีเพียง 5 ประเทศต่อมาก็เริ่มครบถ้วน แต่ก็มีประเทศที่ห่างหายไป เช่น กัมพูชา พม่า"

สำหรับในประเทศไทย ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บอกว่ารางวัลนี้เป็นศึกซีไรต์ค่อนข้างมาก มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก แต่ในประเทศอื่นคัดเลือกด้วยวิธีอื่น เช่น มอบเป็นรางวัล Life Time Archievement เหมือนรางวัลศิลปินแห่งชาติ หรือบางประเทศเลือกนักเขียนที่เป็นดาวเด่น บางประเทศเลือกนักเขียนที่มีงานเขียนสดใหม่ มีกลวิธีไม่ซ้ำเดิม

เมื่อย้อนไปไกลกว่านั้น หากสังเกตให้ดีวรรณกรรมของแต่ละประเทศมีบางสิ่งบางอย่างคล้ายคลึงกัน

"ถ้าเราพูดถึงเรื่องรามเกียรติ์ มีทุกประเทศเลย ยกเว้นฟิลิปปินส์ที่มีวัฒนธรรมแบบยุคหลังอาณานิคม แต่ในอินโดนีเซีย ในชวา ยังคงมีอิทธิพลของเรื่องรามายณะอยู่"

แปลภาษา...สู่อาเซียน

อาจไม่ต้องเอ่ยถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันอย่างคล่องแคล่ว เพราะเมื่อนักเขียนไทยเขียนหนังสือเสร็จ เส้นทางที่หนังสือภาษาไทยเดินทางไปก็มักจะวนเวียนอยู่ในประเทศนี้เพราะภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติไทยแต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้นกระบวนการสำคัญประการหนึ่งที่จะสร้างสายป่านให้นักเขียนไทย คือ การแปล ซึ่ง ผศ.ดร.ตรีศิลป์ พบว่าการแปลหนังสือภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศนั้นยังมีช่องโหว่ที่ทำให้อรรถรสสูญหายไป

"แปลเรื่องสั้น, นวนิยายนี่ง่ายที่สุดนะ เพราะถ่ายทอดออกมาตามนั้น แต่ถ้าแปลบทกวีนี่หมดกัน ถ่ายทอดออกมาแล้วทำลายบทกวีนั้นไปเลย อรรถรสหายหมด เพราะฉะนั้นฝีมือคนแปลยังมีช่องว่างอยู่เยอะเลย ใครจะแปล คนแปลมีฝีมือแค่ไหน เข้าใจถึงวรรณศิลป์ของไทยแค่ไหน"

นอกจากนักแปลแล้ว นักเขียนและนักอ่านก็เป็นจุดอ่อนที่เราไม่ทัดเทียมเพื่อนบ้าน ไม่ใช่ฝีมือตวัดปากกาทว่าเป็นภาษา...เรื่องเดิมๆ

"เดี๋ยวนี้เราสู้นักเขียนต่างชาติไม่ได้ด้านภาษา เพราะเท่าที่สัมผัส อย่างในมาเลเซียคนเขาพูดภาษาอังกฤษกันเยอะมาก ชาวบ้าน แท็กซี่ เขาก็รู้เรื่อง เวียดนามเดี๋ยวนี้ เด็กปี 2 ปริญญาตรี ดำเนินอภิปรายเป็นภาษาอังกฤษได้ เห็นแล้วก็ตื่นตะลึง นักเขียนสิงคโปร์ก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษ" ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บอก

นายหน้าค้าวรรณกรรม

ไม่ว่าจะในโลกธุรกิจประเภทใด ย่อมมีผู้ผลิต และผู้บริโภค แต่ใช่ว่าจะมีเพียงสองฝ่ายนี้แล้วจะจบบริบูรณ์ไม่ เพราะตรงกลางระหว่างสองฝ่ายย่อมมีเอเจนซี่หรือนายหน้า (ตามแต่จะเรียก) เติมช่องว่างตรงกลางให้เต็ม อีกนัยหนึ่งนายหน้าคือแม่สื่อแม่ชักพาสองฝ่ายให้มารู้จักกัน แล้วสายป่านของสองฝ่ายก็ยาวขึ้น

และในธุรกิจค้าวรรณกรรมก็เช่นเดียวกันที่จำเป็นต้องมี 'สะพาน' ระหว่างสำนักพิมพ์กับนักอ่าน โดยเฉพาะวรรณกรรมที่จะต้องเดินทางไปยังตลาดสากลยิ่งจำเป็นทวีคูณ

"เมื่อก่อนใครจะแปลงานอะไรก็หยิบมาแปลได้เลย แต่เมื่อมีเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ตัวแทนอย่างเราจึงเกิดขึ้นในบรรณพิภพ..." พิมลพร ยุติศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท ทัทเทิล-โมริ เอเจนซี่ กล่าว

"เราก็ซื้องานของฝรั่งมาเยอะ ทำไมเราไม่เอางานของคนไทยออกไปบ้าง เราอ่านงานไทยแล้วรู้สึกว่าดีมาก เริ่มความคิดนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่าเราเริ่มแบบเด็กทารก มีใจแต่ไม่มีความพร้อม ตอนนั้นเริ่มด้วย '2499 อันธพาลครองเมือง' ก็ส่งไปทั่วโลก แต่กระแสตอบรับไม่ดี เราก็มีคำถามว่าทำไม วรรณกรรมที่ดังมากในบ้านเราถึงเดินทางไม่ได้ เราก็ขอเหตุผลจากสำนักพิมพ์ที่เราส่งไป ทุกรายบอกว่า คุณต้องเข้าใจว่ามันดังในประเทศคุณก็จริง แต่ไม่มีใครอยากรู้เรื่อง Gangster ในประเทศเล็กๆ นี้"

เมื่อนั้น พิมลพร จึงเกิดวุฒิปัญญาว่าวรรณกรรมที่จะเดินทางไปได้ต้องมีความเป็นสากล แต่ต้องมีความเฉพาะตัวอีกด้วย สองปัจจัยนี้ที่จะทำให้วรรณกรรมไปสู่สากลได้

มูราคามิ คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดซึ่ง พิมลพร ยกตัวอย่าง ด้วยค่าที่นักอ่านทั่วโลกพูดถึง

"เราอ่านงานเขาแล้วไม่รู้สึกว่าเราแปลกแยก เขาพูดอะไรออกมา เราเข้าใจทุกฉากทุกตอนที่เขาบรรยายออกมา แล้วมูราคามิทำให้รู้สึกว่าได้นั่งฟังท่ามกลางบทสนทนาของเขา"

และนอกจากความเป็นสากลและเอกลักษณ์แล้ว วัฒนธรรมท้องถิ่นตลอดจนแนวคิดของแต่ละประเทศก็คือใบเบิกทางสำคัญให้วรรณกรรม 'ดัง' หรือ 'ดับ'

อย่างที่ พิมลพร ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ เช่น ในอินโดนีเซียไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมแนวใดต้องมีแนวคิดแบบศูนย์สู่ความสำเร็จ (Zero to Hero) หรืออย่างในมาเลเซียที่เป็นประเทศอิลามก็ห้ามเรื่องที่ล่อแหลมผิดศีลธรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับหมู, หมาก็ไม่ควร เป็นต้น

นักเขียน...เดินข้างใน ก่อนเดินทางไกล

นักเขียนถือเป็นต้นทางของผลงานวรรณกรรม และนับว่าเป็นผู้ผลิตที่ต้องปรับตัวมากในโลกไร้พรมแดน (กว่าเดิม) ที่กำลังจะเกิดขึ้น

แต่ถ้าหากปรับเปลี่ยนจนหลุดรูปรอยเดิมแล้ว อัตลักษณ์ที่เป็นสิ่งจำเป็นก็อาจเลือนหายไปหมดสิ้น...คงไม่ดีแน่

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีซีไรต์ แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้ว่า แม้เราจะเดินทางไปต่างประเทศเราสวมเสื้อผ้าชุดเดิมได้ เพียงแต่ต้องเข้าใจทั้งตัวเองและองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งแวดล้อม

"นักเขียนต้องโกอินจริงๆ ส่วนเตอร์ค่อยมาเติมทีหลัง เพราะถ้าเราไม่โกอินให้ถึงความจริง ความดี ความงาม บางทีเราอาจจะเป็นซาตานในนามของศิลปวัฒนธรรม ผมเชื่อแน่ว่าหลังจากอาเซียนเปิดเต็มรุปแบบแล้ว แป้งทะนาคาบนใบหน้าของชาวพม่าจะหายไป เพราะภาคธุรกิจจะรุกเข้าไป แล้วอย่าคิดนะครับว่าวัฒนธรรมของแต่ละชาติจะถูกทำลายโดยภาคธุรกิจเท่านั้น บางทีในนามของศิลปวัฒนธรรมเองนี่แหละ ถ้าความโลภนำหน้าเมื่อไร เราจะไม่เห็นอัตลักษณ์ของชาติต่างๆ"

...

ต่อจากนี้คำว่า 'อาเซียน' คงไม่ใช่ของแปลกหรือของแสลงสำหรับบรรณพิภพไทยอีกต่อไป บางทีกว่าจะถึงวันที่เปิดประชาคมฯจริงๆ การตระเตรียมที่พรั่งพร้อมอาจนำมาซึ่งโลกไร้พรมแดนที่ไร้รอยตะเข็บ

หรืออาจเปรียบได้กับหนังสือที่ถูกเขียนไว้อย่างประณีต อ่านลื่น ไม่สะดุด ทั้งภาษาไทยและสากลนั่นแหละ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (http://board.roigoo.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99/)

BGBG1
22-04-2013, 15:25
ความรู้ใหม่เกี่ยวกับอาเซียนดีมากเลย แต่ยาวไปหน่อยนิ อ่านแล้วมึนๆ