View Full Version : สร้างจักรวาลเองก็ได้ ง่ายจัง!~


เติ้ล
12-03-2012, 14:10
ก่อนที่จะเริ่มต้นสร้างจักรวาล สิ่งที่เธอควรทราบมีดังนี้

1.กระบวนการที่เกิดขึ้น เกิดแล้วไม่สามารถย้อนกลับมายังจุดเริ่มต้นได้อีก ดังนั้นเธอต้องมั่นใจก่อนนะ ว่าอยากจะสร้างจักรวาลขึ้นมาจริงๆ การสร้างจักรวาลต้องใช้เวลาและความเอาใจใส่ค่อนข้างมาก

2.ทางบริษัทไม่รับผิดชอบกรณีที่สัตว์เลี้ยงของเธอกลืนกินบางส่วนของจักรวาลเข้าไป แล้วเกิดอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย กลายพันธุ์ หรือแม้แต่ระเบิดเป็นชิ้นๆ ดังนั้นควรระวังไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าใกล้จักรวาลที่เธอสร้างนะจ๊ะ

3.จักรวาลต้องการพื้นที่ค่อนข้างมาก (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวของจักรวาลที่เธอกำหนด ดูหัวข้อ ฉันจะปรับอัตราการขยายตัวของจักรวาลได้อย่างไร) ซึ่งกำหนดพื้นที่อย่างน้อยที่สุดที่ต้องใช้ไว้ที่ข้างกล่อง หากคุณแม่เธอทำโทษเนื่องจากจักรวาลกินพื้นที่ในบ้านจนข้าวของเสียหาย จะหาว่าไม่เตือนไม่ได้นะจ๊ะ

4.เธอควรอ่านคำแนะนำในการสร้างจักรวาลที่บริษัทแนบมาด้วยในกล่องอย่างละเอียด สำหรับเนื้อหาบางส่วนที่อาจจะค่อนข้างยากเกินไปสำหรับเธอ ควรให้ผู้ปกครองช่วยอ่านเพื่อทำความเข้าใจ (กรณีให้คุณพ่อช่วยอ่าน เธอต้องแน่ใจว่า เธอไม่รบกวนการชมกีฬาสุดโปรดของคุณพ่อนะ) คำศัพท์บางคำอาจแปลกๆและไม่คุ้นหู ซึ่งเราอ้างอิงคำศัพท์ตามสิ่งมีชีวิตชั้นสูงในจักรวาลหนึ่ง (สิ่งมีชีวิตพวกนั้นมีสติปัญญาอันจำกัด พวกมันพยายามอธิบายจักรวาลแบบงูๆปลาๆตามที่ปัญญาและเครื่องมือที่มันมีอยู่จะทำได้ แต่ก็ถือว่าอธิบายได้ดีระดับหนึ่ง เรื่องน่าหมั่นไส้อย่างหนึ่งก็คือพวกมันขี้ตู่สุดๆ เมื่อพวกมันค้นพบความจริงใหม่ใดๆก็ตาม มันจะตั้งชื่อสิ่งนั้นตามชื่อตัวเอง เช่น กฎของ... ค่าคงที่ของ... เป็นต้น น่าหมั่นไส้ใช่ไหมล่ะ)

5.มีอุบัติเหตุมากมายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการสร้างจักรวาล ดังนั้นเธอควรสร้างจักรวาลภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ (ถึงแม้จะต้องรบกวนพวกเขาก็ตาม) และทางบริษัทไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่มีข้อควรระวังเตือนไว้แล้ว หากเธอมีข้อสงสัยใดๆสามารถโทรสอบถามบริษัทได้จ้ะ (เบอร์โทรอยู่ข้างกล่อง)

เอาล่ะ ถ้าเธอพร้อม เราก็มาเริ่มสร้างจักรวาลกันดีกว่า!
จักรวาลประกอบด้วยอะไรบ้าง

จักรวาลประกอบด้วยอนุภาค 100 กว่าชนิด ซึ่งเกิดจากอนุภาคมูลฐานต่อไปนี้

ควาร์ก (quarks)
เลปตอน (leptons)
แอนติควาร์ก (antiquarks)
แอนติเลปตอน (antileptons)
ตัวกลางของแรง (force carriers)


เรามาดูดีกว่าว่าควาร์กและเลปตอนแบ่งเป็นกี่ชนิด (เธอจะพบว่าชื่อควาร์กและเลปตอนดูทื่อๆไม่มีความหมาย ยึดตามสิ่งมีชีวิตชั้นสูงในจักรวาลหนึ่งตามที่เราว่าไว้)

๐ ควาร์กแบ่งเป็น 6 ชนิด แต่ละชนิดมีคู่แอนติควาร์กของตนเอง ได้แก่ up/down charm/strange top/bottom ซึ่งไม่อยู่อย่างเดี่ยวๆ มันจะรวมกลุ่มกันเรียกว่า Hadrons ซึ่งมีประจุเป็นจำนวนเต็ม ขณะที่ควาร์กเดี่ยวๆมีประจุเป็นเศษส่วน

Hadrons แบ่งเป็นสองชนิดคือ Baryons และ Mesons

Baryons ประกอบด้วย 3 quarks เช่น proton (up-up-down) และ neutron (up-down-down)

Mesons ประกอบด้วย quark+antiquark

๐ เลปตอนมี 6 ชนิดแต่ละชนิดมีคู่แอนติเลปตอนของตนเอง 3 ชนิดมีประจุ อีก 3 ชนิดไม่มี ชนิดที่มีประจุคือ electron tau muon สองตัวหลังมีอัตราการสลายตัวรวดเร็วมากถึงมากที่สุด

ชนิดที่ไม่มีประจุคือ e-neutrino m-neutrino t-neutrino

อนุภาคมูลฐานเหล่านี้มีอันตรกิริยาระหว่างกัน ควาร์กและเลปตอนประกอบกันเป็นอะตอม อะตอมประกอบกันเป็นโมเลกุล โมเลกุลประกอบกันเป็นสสาร สสารประกอบกันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล ง่ายแค่นี้เอง
จักรวาลประกอบด้วยแรง 4 ชนิด

1.แรงดึงดูด (gravity force)
2.แรงแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic force)
3.แรงนิวเคลียร์อย่างเข้ม (strong nuclear force)
4.แรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน (weak nuclear force)

แรงเกิดจากอันตรกิริยา (เราจะพยายามให้คำน่าเบื่อคำนี้ให้น้อยที่สุด) ระหว่างอนุภาคโดยเกิดการแลกเปลี่ยน force carrier particle ระหว่างกัน ถ้าเธอนึกไม่ออก ลองนึกภาพเธอโยนลูกบอลรับส่งกับเพื่อนดูนั่นแหละคล้ายๆกัน

แรงดึงดูด คือแรงที่เกิดขึ้นระหว่างอนุภาคที่มีมวล (แล้วมวลมาจากไหน เพื่อไม่ให้ยุ่งยากเกินไป บริษัทสร้างมวลให้กับอนุภาคแล้วโดยใช้ฮิกส์โบซอน ดังนั้นเธอจึงไม่ต้องสร้างมันเอง) ใช้กราวิตอนเป็นตัวกลางโยนเล่นกัน

แรงแม่เหล็กไฟฟ้า คือ แรงที่เกิดขึ้นระหว่างอนุภาคที่มีประจุต่างกัน ใช้โฟตอนเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนกัน

แรงนิวเคลียร์อย่างเข้ม คือ แรงที่ยึดเหนี่ยวให้โปรตอนและนิวตรอนอยู่ร่วมกันในนิวเคลียส ใช้กลูออนเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนกัน

แรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน คือ แรงที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยานิวเคลียร์ (ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากเมื่อเธอจะสร้างดาวฤกษ์) การสลายตัวจากธาตุที่ใหญ่กว่าเป็นธาตุที่เล็กกว่า ใช้ W+, W-, Z โบซอนเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนกัน

เอาล่ะ หลังจากเธออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ฉันเชื่อว่าเธอคงจะเหลียวกลับไปดูในกล่องและพบว่าไม่มีอนุภาคที่ว่า หรือแรงใดๆอยู่ในกล่องเลย! เธอคงคิดว่าเราโม้เป็นบ้า ไม่เห็นให้อะไรมาสักอย่าง แล้วจะสร้างจักรวาลได้อย่างไร ...เธอคิดผิดแล้วล่ะหนูน้อย อนุภาคและแรงเหล่านี้เกิดขึ้นทันทีภายหลังเธอจุดระเบิดบิ๊กแบงต่างหากล่ะ!
บิ๊กแบง (Big bang)

บิ๊กแบงคือจุดกำเนิดของจักรวาล (ชื่อบิ๊กแบงเป็นชื่อที่สิ่งมีชีวิตชั้นสูงในจักรวาลหนึ่งตั้งขึ้นมาแบบไร้ตรรกะที่สุด หนึ่งมันไม่บิ๊ก กลับกันการระเบิดนั้นเล็กมากๆ เล็กกว่าอะตอมหรือควาร์กด้วยซ้ำ สองมันไม่แบง การระเบิดจะไม่มีเสียงเนื่องจากยังไม่มีตัวกลางในตอนแรก เห็นไหมว่าคนตั้งชื่อนี้นี่ช่างน่าบ้องหูจริงๆ)

เมื่อเธอจุดระเบิดบิ๊กแบง นั่นคือเธอให้กำเนิดจักรวาลเรียบร้อยแล้ว กาล-อวกาศจะขยายตัวออก อนุภาคต่างๆราว 1079-1089 จะเกิดขึ้น แรงทั้งสี่จะแยกออกจากกัน... เฮ้! รู้อย่างนี้แล้วเธออย่าเพิ่งใจร้อนจุดระเบิดเชียวนะ อ่านคำแนะนำต่อไปให้จบก่อน เชื่อเราเถอะ





หลังบิ๊กแบง

เมื่อเธอจุดระเบิดแล้ว หมายความว่าเธอย้อนกลับไม่ได้แล้ว ชะตากรรมของจักรวาลเริ่มต้นขึ้นโดยมีเธอเป็นผู้กุมมันไว้ เหตุการณ์หลังบิ๊กแบงเป็นสิ่งที่น่าดูน่าชมที่สุดซึ่งเธอไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ดังนั้นเราจึงแนะนำให้เธอทำการบ้าน ช่วยคุณแม่ทำงานบ้าน รับประทานอาหาร และจัดการธุระตัวเองให้เสร็จก่อนที่จะจุดระเบิด ช่วงระยะเวลาสั้นๆหลังบิ๊กแบงเป็นช่วงที่สำคัญมากที่เธอต้องเฝ้าดูมันอย่างใกล้ชิดที่สุด

ก่อน 10-43 วินาทีหลังบิ๊กแบง

ช่วงนี้เธอจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย จักรวาลในช่วงนี้ถูกกำหนดค่าเริ่มต้นโดยบริษัทของเรา โดยเราตั้งค่าเริ่มต้นให้จักรวาลมีความสมมาตรแบบสูงสุด (Supersymmetry) แรงทั้งสี่รวมกันเป็นหนึ่ง สสารและปฏิสสารถูกสร้างมาเท่าๆกัน และทั่วทั้งจักรวาลแทบจะยังไม่มีอะไรเลยและรอให้เธอมาเติมเต็ม

10-43 วินาทีหลังบิ๊กแบง

ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญมาก เธอต้องจับเวลาให้ตรงที่สุด แล้วทำลายความสมมาตรนั้นเสีย (Symmetry breaking) เธอต้องทำให้สสารและปฏิสสารมีปริมาณไม่เท่ากัน (ทั้งนี้ ขึ้นกับว่าเธออยากสร้างจักรวาลของสสารหรือปฏิสสาร ถ้าเธอจะสร้างจักรวาลของสสารเธอก็ต้องกำหนดให้สสารมีปริมาณมากกว่าปฏิสสารในช่วงเวลาวิกฤตนี้ เป็นต้น) ถ้าความสมมาตรนี้ไม่พังทลาย จักรวาลของเธอก็จะล่มสลายลงในทันที เนื่องจากสสารและปฏิสสารชนกัน ทำลายล้างทุกสิ่งหมดสิ้น เธอต้องแยกแรงทั้งสี่ออกจากกันเพื่อให้อันตรกิริยาระหว่างสสารเกิดขึ้นในจักรวาล (ทางบริษัทแนะนำให้แยกแรงดึงดูดออกมาก่อนเป็นอันดับแรก)

และในช่วงนี้เองที่จักรวาลจะขยายตัวออกไป ก่อให้เกิดกาล-อวกาศอันไร้ขอบเขต ค่าอัตราการขยายตัวของจักรวาลที่เราแนะนำคือ 1050 เท่า (ทั้งนี้ เธอสามารถปรับค่าการขยายตัวของจักรวาลได้โดยดูหัวข้อฉันจะปรับอัตราการขยายตัวของจักรวาลได้อย่างไร)

อ้อในช่วงนี้ อุณหภูมิของจักรวาลจะสูงถึง 1032 องศาเคลวิน ดังนั้นอย่าได้แตะมันเชียว (เตือนผู้ปกครองของเธอด้วยนะ พวกเขาอาจอดใจไม่อยู่)

10-34 วินาทีหลังบิ๊กแบง

จักรวาลเย็นลงมาเล็กน้อยเหลือ 1027 องศาเคลวิน รูปร่างมันจะเหมือนซุปพลาสม่าร้อนๆของควาร์ก เลปตอนและอนุภาคตัวกลางของแรงทั้งหลาย ที่หลงเหลือจากการชนกันของสสารและปฏิสสาร เธอต้องค่อยๆปรับอุณหภูมิที่ลงซึ่งจะทำให้ควาร์กรวมตัวกันเป็นโปรตอน นิวตรอนได้ในที่สุดเอาล่ะ เธอสร้างองค์ประกอบของอะตอมได้แล้ว! ดีใจด้วยนะ

4.3 นาทีหลังบิ๊กแบง

ขั้นตอนนี้คือการสร้างอะตอม อุณหภูมิที่เธอค่อยๆปรับลดลงจะทำให้เกิดการรวมตัวของอนุภาคมูลฐานเป็นอะตอมในที่สุด แต่ในขั้นนี้เธอจะสร้างได้แต่อะตอมที่มีเลขอะตอม (เลขอะตอม-เลขที่บ่งบอกถึงจำนวนโปรตอนในอะตอมนั้น) ไม่เกิน 5 นะ เช่น Hydrogen Helium Lithium เป็นต้น แล้วธาตุที่หนักกว่านี้ล่ะ! เอาล่ะใจเย็นๆก่อนนะ เราจะพูดถึงการสร้างธาตุหนักในเวลาต่อไปนะ

จักรวาลตอนนี้ยังไม่สวยนัก (และใช้เวลาอีกนานทีเดียวกว่ามันจะดูดี ดังนั้นเธออย่าเพิ่งรีบโยนมันทิ้งเสียล่ะ) ค่อนข้างขุ่นมัว มีแสงเพียงเล็กน้อยจากอิเล็คตรอนอิสระ

380,000 ปีหลังบิ๊กแบง

ช่วงนี้จักรวาลเย็นตัวลงถึง 3000 องศาเคลวิน อะตอมต่างๆจึงมีสเถียรภาพไม่แตกสลายและกลับมารวมตัวใหม่วนไปวนมาอีกต่อไป โฟตอนสามารถวิ่งไปได้ทั่วจักรวาลอย่างอิสระปราศจากสิ่งดูดซับ ดังนั้นช่วงนี้จักรวาลจึงเริ่มใส และเธอก็สามารถเห็นองค์ประกอบอะไรๆได้มากขึ้นแล้ว

ล้านล้านปีหลังบิ๊กแบง

ตอนนี้ล่ะที่สนุกที่สุด! เธอสามารถสร้างดวงดาว กาแล็กซี่ และทุกสิ่งทุกอย่างได้แล้ว แล้วจะรอช้าทำไม ลุยเลย!

ฉันจะปรับอัตราการขยายตัวของจักรวาลได้อย่างไร

จักรวาลของเธอจะไม่มีค่าหากมันไม่ขยายตัว แน่นอนเธอจะสร้างดวงดาว ระบบสุริยะ กาแล็กซี่ หรืออะไรต่อมิอะไรได้อย่างไร หากไม่มีพื้นที่ให้มันอยู่! ดังนั้นเธอต้องจัดการให้จักรวาลขยายตัวซะตามที่เรากล่าวไปแล้ว

การขยายตัวของจักรวาลขึ้นกับ 2 ตัวแปรหลัก

1. W คือความหนาแน่นเฉลี่ยของสสารทั้งหมดในจักรวาล
2. l คือพลังงานมืดซึ่งผลักดันให้จักรวาลขยายตัว

เธอต้องปรับสองค่านี้ให้เหมาะสม ค่าการขยายตัวนี้ไม่จำเป็นต้องคงที่ เธอสามารถปรับแต่งมันได้ในภายหลัง รวมถึงเมื่อเธอเบื่อจักรวาลแล้วและอยากให้มันถึงจุดจบ

หากเธอตั้งค่าทั้งสองให้สูงเกินไป จักรวาลจะยุบตัวลงและระเบิดในที่สุด (Big crunch) เป็นจุดจบอย่างแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอสร้างมาจะสูญไปหมดสิ้น ควรปรึกษาผู้ปกครองก่อนที่เธอจะทำมัน มิฉะนั้น ท่านอาจจะตำหนิเธอได้ว่าไม่รู้จักรักษาของเล่นของตัวเอง

หากเธอตั้งค่าทั้งสองให้ต่ำเกินไป จักรวาลจะขยายอย่างรวดเร็วและไม่มีที่สิ้นสุด กาแล็กซี่ทั้งหมดจะแยกจากกัน อุณหภูมิจะลดลงจนถึงจุดเยือกแข็งสมบูรณ์ (Big freeze) ทุกสิ่งทุกอย่างจะหยุดเคลื่อนที่ในที่สุด จักรวาลจะถูกแช่แข็งชั่วนิรันดร์
ฉันจะสร้างดาวฤกษ์ได้อย่างไร

ความสวยงามของจักรวาลคือดาวฤกษ์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแสง ความร้อน และธาตุหนักต่างๆที่เธอจำเป็นต้องใช้ในการสร้างดาวเคราะห์ ดังนั้นเธอจะอวดจักรวาลกับเพื่อนๆได้ด้วยดาวฤกษ์นี่แหละ

เริ่มต้นเธอต้องรวบรวมก๊าซไฮโดรเจนให้มากพอ จับมันมาหมุนวนจนได้เป็นลูกกลมๆขนาดใหญ่พอเหมาะเรียกว่า protostar จากนั้น แรงดึงดูดทำให้กลุ่มก๊าซเหล่านี้หดตัวและเพิ่มความเร็วในการหมุนวน ซึ่งทำให้อุณหภูมิ ณ ใจกลางสูงขึ้นเป็นหลักล้านองศาเคลวิน (ดังนั้นอย่าเอามือไปแตะ!)

ที่อุณหภูมิ ณ ใจกลาง จะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น หลอมไฮโดรเจนได้เป็นฮีเลียมและได้พลังงานความร้อนออกมาอย่างมหาศาล เท่านี้เธอก็ได้ดาวฤกษ์แล้ว! พลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวกำหนดสีของดาวฤกษ์นั้น

ดาวที่มีแสงสีฟ้ามีความร้อนสูงที่สุด มันมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 45,032 F
ดาวที่มีแสงสีขาวมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 10,832 F
ดาวที่มีแสงสีเหลืองมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 8,540 F
ดาวที่มีแสงสีแดงมีความเย็นมากที่สุด มันมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 4,940 F
จุดจบของดาวฤกษ์

เมื่อมีจุดเริ่มต้นก็ต้องมีจุดจบ ความตายของดาวฤกษ์จะให้กำเนิดดาวเคราะห์

เมื่อดาวฤกษ์ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงจนเกือบจะหมด มันจะหันมาใช้ฮีเลียมเผาไหม้แทน การรวมตัวของฮีเลียมภายในใจกลางดาวฤกษ์จะทำให้ได้ธาตุที่หนักมากขึ้น ขณะที่เปลือกนอกของดาวฤกษ์ก็จะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นดาวยักษ์สีแดง สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาขึ้นอยู่กับว่าดาวฤกษ์ที่เธอสร้างเริ่มต้นมีขนาดใหญ่แค่ไหน

1. สำหรับดาวฤกษ์ขนาดปานกลาง เมื่อพลังงานของดาวยักษ์สีแดงหมดลง ก็จะเหลือแต่แกนกลางที่เรียกว่าดาวแคระขาว

2. สำหรับดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ เมื่อพลังงานของดาวยักษ์สีแดงหมดลง แกนกลางก็จะเริ่มเย็นลง และไม่สามารถผลิตความร้อนออกมาสมดุลกับแรงดึงดูดได้ จึงทรุดตัวลง ทำให้เปลือกชั้นนอกอุ่นขึ้น และระเบิดออกอย่างรุนแรง ทำให้เกิดเป็นซูเปอร์โนวา (Supernova) ซูเปอร์โนวาเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก แรงระเบิดจะสาดเอาธาตุหนักต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นและเป็นองค์ประกอบของดาวเคราะห์สาดไปทั่วจักรวาล

อ้อ! สิ่งที่เหลือจากซุเปอร์โนวา เธออาจจะได้ดาวนิวตรอน เป็นดาวที่มีขนาดเล็กมากแต่ความหนาแน่นสูงมาก ขนาดที่ว่าเนื้อสสารของดาวหนึ่งช้อนชาอาจมีน้ำหนักถึงหนึ่งพันล้านตัน แต่ความเห็นของเราคิดว่า มันก็ไม่น่าสนใจนักหรอก

3. สำหรับดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ เมื่อพลังงานของดาวยักษ์สีแดงหมดลงและเกิดการยุบตัว แรงดึงดูดที่มหาศาลจะทำให้ดาวยุบตัวลงถึงจุดวิกฤตและระเบิดซูเปอร์โนวา สิ่งที่หลงเหลือคือดาวนิวตรอนที่มีมวลและขนาดเกินวิกฤต (รัศมีของดาวมากกว่า Schwarzschild radius) แรงดึงดูดที่เกิดจากดาวจะสูงมากจนมันยุบตัวลงอย่างไม่สิ้นสุด กลืนกินทุกอย่างที่อยู่บริเวณรอบข้างแม้แต่แสงก็ไม่อาจหนีพ้น ดังนั้นเราจึงเรียกมันว่าหลุมดำ(Black hole)

น่าสนใจใช่ไหม...หลุมดำยิ่งมีปริศนาอีกมากที่เราจะอุบไว้ ให้เธอลองสร้างมันขึ้นมาเพื่อหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นต้นว่าเธอรู้หรือไม่ว่าขอบหลุมดำ (ขอบฟ้าเหตุการณ์) ณ ที่แห่งนั้นเวลาจะหยุดนิ่ง หรือหลุมดำอาจเป็นทางเปิดไปสู่จักรวาลของคนอื่นได้
ฉันจะสร้างดาวเคราะห์ได้อย่างไร

ถ้าเธอสร้างดาวฤกษ์ได้แล้ว การสร้างดาวเคราะห์ก็ไม่ยากเลย แค่เอาธาตุหนักๆจำพวกโลหะ คาร์บอน ไนโตรเจน ออกซิเจน ที่ได้จากการระเบิดซูเปอร์โนวามารวมตัวกันด้วยแรงแม่เหล็กไฟฟ้าและแรงดึงดูด เธอก็จะได้ก้อนกลมๆของดาวเคราะห์แบเบาะ แนะนำว่าเธอควรจะให้มันเกิดใกล้กับดาวฤกษ์และสร้างเป็นระบบสุริยะ ด้วยวิธีนี้ดาวเคราะห์ของเธอจะมีเสถียรภาพ ไม่ลอยคว้างไปในอวกาศเหมือนเศษขยะ

ฉันจะสร้างสิ่งมีชีวิตได้อย่างไร

คำเตือน: ความยากอยู่ในระดับโหด

หากเธอคิดจะสร้างสิ่งมีชีวิต เราแนะนำว่าเธอจะต้องใจเย็นอย่างมาก เพราะการสร้างสิ่งมีชีวิตอาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ซับซ้อนที่สุดในการสร้างจักรวาล (ทั้งนี้เรามีสารพันธุกรรมเริ่มต้นแถมมาให้สำหรับคนที่ใจร้อน ซึ่งเธอแค่เอาสารพันธุกรรมดังกล่าวติดกับก้อนหินเล็กๆสักก้อนหนึ่ง แล้วหย่อนให้ตกลงไปในดาวเคราะห์ที่เหมาะสม สิ่งมีชีวิตชั้นสูงในจักรวาลหนึ่งเรียกการกำเนิดชีวิตด้วยวิธีนี้ว่า Panspermia theory)

อันดับที่หนึ่ง เธอต้องเลือกสถานที่เหมาะสม เธอต้องเลือกระบบสุริยะที่น่าอยู่ ระบบดาวฤกษ์เดี่ยวหรือดาวฤกษ์คู่นั้นน่าสนใจทั้งคู่ ดาวเคราะห์จะเป็น ?โลก? ควรอยู่ห่างจากดาวฤกษ์อย่างเหมาะสม หากอยู่ใกล้เกินไป ดาวเคราะห์จะมีอุณหภูมิสูงเกินไปจนไม่อาจกักเก็บของเหลวไว้ได้และไม่เกิดชั้นบรรยากาศ ขณะเดียวกันถ้าอยู่ไกลเกินไปก็จะหนาวเย็นจนปฏิกิริยาเคมีของสิ่งมีชีวิตไม่เกิด

อันดับที่สอง ดาวเคราะห์ต้องเหมาะสม มันควรจะมีชั้นบรรยากาศเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอของเธอจากอันตรายในอวกาศ สนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ต้องพอเหมาะ ธาตุประกอบในดาวเคราะห์ก็ต้องเหมาะสมกับชีวเคมีของสิ่งมีชีวิต

อันดับสาม สิ่งแวดล้อมต้องเหมาะสม เธอไม่ควรสร้างโลกใกล้ๆกับหลุมดำ ดาวนิวตรอน ฝูงดาวเคราะห์น้อยที่พร้อมจะตกลงสู่โลกได้ทุกเมื่อ หรือไม่ควรวางโลกอยู่ในกาแล็กซี่ที่กำลังจะชนกับกาแล็กซี่อื่น

อันดับสุดท้าย เวลา การที่เธอจะสร้างสิ่งมีชีวิตนั้น เธอต้องมีเวลามากพอ อาจจะมากจนเธอไม่มีเวลาทำการบ้านปิดเทอมเลยล่ะ เธอต้องสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิต บ่มเพาะชีวโมเลกุลในทะเล ค่อยๆดูพวกมันรวมกลุ่มกันเป็นเซลล์ เพิ่มจำนวน กลายพันธุ์นับล้านครั้ง ถ่ายทอดสารพันธุกรรมไปอย่างไม่สิ้นสุด (ทางบริษัทได้ตั้งค่าอัตราการวิวัฒนาการไว้แล้ว ในกรณีที่เธอใช้สารพันธุกรรมของบริษัท) นี่ยังไม่นับว่าหากเธอต้องการสร้างสิ่งมีชีวิตทรงปัญญา ค่าเฉลี่ยในการลองผิดลองถูกอยู่ที่การสูญพันธ์ใหญ่ประมาณ 5 ครั้ง (หมายความว่าเธอต้องลองผิดลองถูก ทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปเกือบทั้งหมด ปล่อยให้พวกมันวิวัฒนาการใหม่ ทำให้มันสูญพันธุ์ วนไปมาอย่างนี้อย่างน้อย 5 ครั้งจึงจะได้สิ่งมีชีวิตทรงปัญญา)






สุดท้าย

ยังมีหลายสิ่งที่ทางบริษัทบอกไม่หมดเกี่ยวกับการสร้างจักรวาล ทั้งนี้เพื่อให้เธอค้นหาความสนุกด้วยตนเอง เช่น สสารมืด รูหนอนอวกาศ การย้อนเวลา การบิดโค้งกาล-อวกาศ จะทิ้งร่องรอยการดำรงอยู่ของเธอให้สิ่งมีชีวิตทรงปัญญารับรู้ได้อย่างไร ฯลฯ

เราหวังว่าเธอจะสนุกกับของเล่นของบริษัทเรา และหวังว่าเธอจะเพลิดเพลินกับของเล่นอื่นๆในชุด ?ทำเองก็ได้ ง่ายจัง!? ชุดอื่นด้วยเช่นกัน

ขอบคุณ

M150
12-03-2012, 20:18
สรรพความรู้เกี่ยวกับการสร้างจักรวาล ขั้นเทพเลยครับน้องเอ๋ย @@@

KunMama
12-03-2012, 21:33
สนับสนุนบทความน่าอ่านครับ