View Full Version : เราอยู่บนโลกนี้ได้แม้ไม่มี "เฟซบุ๊ค"


ChangNoi and Light
26-05-2012, 10:35
เราอยู่บนโลกนี้ได้แม้ไม่มี "เฟซบุ๊ค"
เราจะอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีมัน มันจะอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีเรา

ไปเจอบทความดีดีเกี่ยวกับเฟซบุ๊คมาให้น้องน้องเว็บหรอยกูได้อ่านกันครับ
ลองถามตัวเองบ้างหรือยังว่าเราจะไม่เล่นเฟซบุ๊คซักวันได้หรือไม่ มันจำเป็น
กับชีวิตของเรามากหรือไม่ เฟซบุ๊คอาจไม่ใช่เป็นความต้องการที่แท้จริงใน
ชีวิตของเราก็เป็นอาจจะเป็น อุปสงค์หลอกๆภายในจิตใจของเราเท่านั้นเอง
ลองอ่านกันดูครับ บทความจากอเมริกา

http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2012/05/26/images/news_img_453625_1.jpg


ประชากร 901 ล้านคนบน "เฟซบุ๊ค" สะท้อนความยิ่งใหญ่ของเครือข่ายสังคมแห่งนี้ แต่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เลือกไปอยู่บนโลกอีกใบที่ไม่มีเฟซบุ๊ค

"ซีเอ็นเอ็น" นำเสนอภาพของผู้คนที่เริ่มหลีกหนีจากเฟซบุ๊ค ซึ่งก่อนหน้านี้แทบเป็นไปไม่ได้ที่ใครบางคนจะผละออกจากเครือข่ายสังคมออนไลน์แห่งนี้ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกแล้ว

ดูจากผลสำรวจของเอพี-ซีเอ็นบีซี ที่พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันที่ตอบแบบสอบถามคิดว่า เฟซบุ๊คเป็นความคลั่งไคล้ที่เกิดขึ้นชั่วคราว มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่หลบลี้และหักดิบจากเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการลบบัญชีเฟซบุ๊ค โดยมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป

เหตุผลแรก คือ จบความสัมพันธ์แบบไม่ค่อยสวย ซึ่งปกติแล้วการแยกทางกันไม่ได้ทำให้หนุ่มสาวรู้สึกวุ่นวายใจเสมอไป ยกเว้นแต่เมื่อพบข้อความของอดีตแฟนกำลังคบหากับกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกัน

"โบรลิน วอลเตอร์ส" วัย 24 ปี ตัดสินใจเลิกรากับเฟซบุ๊คด้วยเหตุผลนี้ เพราะไม่ต้องการรับรู้เรื่องราวของคนทั้งคู่ เหตุผลต่อมา คือ ต้องการรักษาภาพความเป็นมืออาชีพเอาไว้ไม่ให้กระทบต่องาน โดยไม่ต้องการให้นายจ้างในอนาคตพบเจอบางสิ่งบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดคำถามตามมาภายหลัง

ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว และโอกาสในการทำงาน ส่งผลให้ "อเล็กซานเดอร์ คลาร์ก" วัย 18 ปี เลิกใช้งานเฟซบุ๊ค เพราะเขาฝันอยากทำงานในกองทัพอากาศสหรัฐมาตั้งแต่จำความได้ เมื่อเดินทางมาใกล้ความจริง เขาต้องการรักษาภาพความเป็นมืออาชีพเอาไว้

คลาร์ก บอกว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างบนเฟซบุ๊คที่ไม่อยากให้นายจ้างรู้ และคิดว่าต้องทำให้สิ่งที่อยู่บนเฟซบุ๊คอยู่บนเฟซบุ๊คเท่านั้น

อีกเหตุผล คือ ต้องการโฟกัสการสื่อสารที่แท้จริง "เชียลา โอเดีย" ลบบัญชีเฟซบุ๊ค หลังจากรู้สึกตัวว่าจากความสนุกเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความเคยชิน เธอเล่นเฟซบุ๊คแทบจะตลอดเวลา เมื่อสิ้นสุดการใช้งาน เธอก็อยากกลับเข้าไปอีก แต่พอเธออยู่ห่างจากเฟซบุ๊ค เธอก็ตระหนักว่ามันไม่ได้จำเป็น

โอเดียเล่าว่า เธอพยายามพบปะคนอื่นๆ แม้ว่าเว็บเครือข่ายสังคมอาจทำให้สนุก แต่เราไม่ได้เชื่อมโยงกันจริงๆ มันเป็นการสื่อสารแบบแมส แต่เราอาจสูญเสียทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล

เช่นเดียวกับครอบครัว "แอนดรัส" ที่สามี "คริส" เริ่มรู้สึกเหินห่างกับภรรยา แม้จะพบปะกันบนเฟซบุ๊ค ทั้งคู่จึงเริ่มผละจากเครือข่ายสังคมแห่งนี้ และชีวิตบนโลกที่ไร้เฟซบุ๊คก็ดีขึ้น เพราะโฟกัสไปที่การสื่อสารระหว่างบุคคลมากกว่า ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวและระหว่างเพื่อนฝูงแน่นแฟ้น ไม่ต้องกังวลกับเพื่อนหลายร้อยรายบนเฟซบุ๊คที่ไม่ได้สำคัญมากนัก

เหตุผลประการต่อมา การหักดิบเครือข่ายสังคมออนไลน์ช่วยลดภาระด้านอารมณ์ จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยยูทาห์ วัลเลย์ พบความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างการใช้เวลาบนเฟซบุ๊คกับการมองชีวิตตัวเอง โดยผู้ใช้เฟซบุ๊คนานๆ มักคิดว่าเพื่อนๆ มีชีวิตที่ดีกว่าตัวเอง

"แอนเดรีย" ผู้ไม่เปิดเผยนามสกุล ยอมรับว่า เฟซบุ๊คทำให้เธอมองตัวเองแตกต่างจากเดิม เธอรู้สึกกดดัน และตัดสินใจลบบัญชีเฟซบุ๊คเมื่อ 10 เดือนก่อน เพราะไม่อยากโพสต์ข้อความคุยโม้ เพื่อดึงดูดความสนใจจากเพื่อนฝูง ซึ่งบางทีทำไปโดยไม่รู้ตัว

อีกเหตุผลของคนหมดรักเฟซบุ๊ค เพราะใช้เวลาไปกับเครือข่ายสังคมมากเกินไป จากข้อมูลพบว่า เฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้เฟซบุ๊คใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งค่อนข้างมาก

"เอเวลิน เบตแมน" คุณแม่วัย 30 ยังแจ๋ว เป็นคนหนึ่งที่จดจ่ออยู่กับหน้าจอเฟซบุ๊ค แต่พอรู้ตัวว่านี่ทำให้เสียเวลาไปมาก จึงเลิกใช้เฟซบุ๊ค แล้วหันไปอ่านนิยาย และใช้เวลาดูแลลูกๆ มากขึ้น ซึ่งเพื่อนในเฟซบุ๊คก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์บนชีวิตจริง เพราะคนเหล่านี้อยู่ในโลกไซเบอร์เท่านั้น

และเหตุผลสุดฮิต หนีไม่พ้นเรื่องความเป็นส่วนตัว "ทอม มาร์ติน" อธิบายว่า ถึงแม้เฟซบุ๊คจะใช้ได้ฟรี แต่ผู้ใช้มีสิ่งที่ต้องจ่ายไม่น้อยจากข้อมูลความเป็นส่วนตัว ซึ่งเขาไม่ต้องการให้ข้อมูลเหล่านี้เสี่ยงกับการที่เฟซบุ๊คเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

แต่อีกด้านของเหรียญ คนที่ปฏิเสธเฟซบุ๊ค มักพบกับคำถามจากผองเพื่อนที่แปลกใจว่าทำไมไม่ใช้เฟซบุ๊ค และบางรายก็ถูกมองในแง่ลบว่า อาจมีปัญหาอะไรที่ทำให้ต้องหลบหนีจากโลกแห่งเฟซบุ๊ค

ขอบคุณ bangkokbiznews.com