View Full Version : วันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 16 ก.พ. ของทุกปี


poohba
25-06-2012, 10:30
วันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 16 ก.พ.
กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ยังอยู่ในใจของคนไทย
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ยังอยู่ในใจของคนไทย ในสมัยอยุธยากันดีกว่าจ้า เพื่อนๆ รู้ไหมว่า ในวังพระนารายณ์ เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลหลายด้านที่สำคัญ มีระบบประปาในรอบตำหนักต่างๆ ที่มีการทำเป็นบ่อน้ำรายรอบ และเวลาอาบน้ำ มีท่าน้ำที่ทอดไปสุ่แม่น้ำลพบุรี ซึ่งเหล่าข้าราชบริพารจะสามารถลงไปอาบน้ำที่ท่านี้ได้ แสดงุถึงพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระนารายณ์ได้วางผังเมืองลพบุรีได้สุดยอดเลย เพราะวังพระนารายณ์ห่างจากแม่น้ำลพบุรีไม่มาก เป็นที่ดอนสูง น้ำไม่ท่วม อยากทราบประวัติของวันนี้กันแล้วใช่ไหมคะ เรามาร่วมด้วยช่วยกันซาบซึ้งกันเลย

http://board.roigoo.com/members/ohmohm-albums-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D+24513-picture4621-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D2.jpg (http://board.roigoo.com/members/ohmohm-albums-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D+24513-picture4621-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D2.html)


สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระเชษฐาคือ สมเด็จเจ้าฟ้าไชย มีพระอนุชา คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระองค์ทองและพระอินทราชา

ครั้นวันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก พ.ศ.2199 สมเด็จพระนารายณ์มีพระชนม์ 25 พรรษา นับว่าเข้าเกณฑ์เบญจเพส จึงได้โปรดให้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา มีพระนามซึ่งถวายเมื่อราชาภิเษกตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ บรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราช ราเมศวรธราธิบดีศรีสฤษดิรักษสังหาร จักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์คุณขนิฐจิตรรุจี ตรีภูวนาทิตยฤทธิพรหม เทพาดิเทพบดินทร ภูมินทราธิราชรัตนากาศุวงษ์ องค์เอกาทศรุฐ วิสุหธยโสดม บรมอาชาวาธยาศัย สมุทัยดโรมนต์อนนตคุณ วิบุลยสุนทร บวรธรรมิกราชเดโชไชย ไตรโลกนารถบดินทร์วรินทราธิราชมนชาตุ พิชิตทิศพลญาณสมันต์มหันตวิปผาราฤทธิวิไชย ไอสวรรยาธิปัตขัติยวงษ์องค์ปรมาธิบดี ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธมกุฏรัตโมฬี ศรีประทุม สุริยวงศ์องค์ สรรเพชญ์พุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว"

http://board.roigoo.com/attachment.php?attachmentid=3585&stc=1&d=1340614638 (http://board.roigoo.com/members/ohmohm-albums-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D+24513-picture4621-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D2.html)

และปรากฏพระนามในจารึกวัดจุฬามณี ว่า "พระสรรเพชญ์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีศินทรมหาจักรพรรดิศวร ธรรมิกราชเดโชชัย บรมจักรพรรดิศวรธรรมิกราชาอันประเสริฐ" ในพระอัยการลักษณะรับฟ้องขนานพระนามว่า "พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว" และในบางแห่งขนานพระนามว่า "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3" พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถมาก ทำให้กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระองค์ มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในทุกด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่องเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย เผยแพร่ศาสนาตลอดจนเข้ารับราชการ ทำให้ชาวตะวันตกยอมรับนับถือกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก

ด้านการค้าขาย ได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากยิ่งกว่าในรัชสมัยอื่นๆ ทรงปรับปรุงกรมพระคลังสินค้า โปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกำปั่นหลวง เพื่อทำการค้ากับต่างประเทศ จึงทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ และต่อมาเมื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ผู้เป็นชาวกรีกได้ช่วยปรับปรุงงานของกรมพระคลังสินค้าอีก ทำให้การค้าขายกับต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองสูงสุด มีพ่อค้าชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่า "ในชมพูทวีปไม่มีเมืองใดที่จะแลกเปลี่ยนสินค้ามากเท่ากับในสยาม สินค้าขายได้ดีมากในสยามและการซื้อขายใช้เงินสด" สำหรับเมืองท่าของไทยในเวลานั้น มีอยู่หลายเมืองด้วยกัน ได้แก่ มะริด ตะนาวศรี ภูเก็ต ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช เพชรบุรี และบางกอก


ในปี พ.ศ.2224 สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงจัดคณะทูตนำพระราชสาสน์ไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส แต่คณะราชทูตสูญหาย ไประหว่างทาง ต่อมาในปี พ.ศ.2226 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดคณะทูตเดินทางไปฝรั่งเศสอีกครั้ง เพื่อสอบสวนความเป็นไปของทูตคณะแรก พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงทราบก็เข้าใจว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงเลื่อมใสจะเข้ารีต จึงได้จัดคณะราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา โดยมีเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ เป็นหัวหน้าคณะทูต เมื่อปี พ.ศ.2228 ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทูลขอให้ทรงเข้ารีต แต่พระองค์ทรงปฏิเสธด้วยพระปรีชาสามารถว่า "การที่ผู้ใดจะนับถือศาสนาใดนั้น ย่อมแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์จะบันดาลให้เป็นไป ถ้าคริสตศาสนาเป็นศาสนาดีจริงแล้ว และเห็นว่าพระองค์สมควรที่จะเข้าเป็นคริสตศาสนิกแล้ว สักวันหนึ่งพระองค์จะถูกดลใจให้เข้ารีตจนได้" พระองค์ได้ให้เสรีภาพแก่ราษฎรทั่วไปที่จะนับถือคริสตศาสนาได้ตามความเลื่อมใสของตน ทำให้เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ พอใจ

นอกจากพระราชกรณียกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองแล้ว ก็ปรากฏว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระปรีชาญาณในศิลปวรรณคดีเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีไว้หลายเรื่อง เท่าที่ทราบกันต่อมาในบัดนี้ มีดังนี้

1.พระราชนิพนธ์โคลง เรื่องทศรถสอนพระราม
2.พระราชนิพนธ์โคลง เรื่องพาลีสอนน้อง
3.พระราชนิพนธ์โคลง เรื่องราชสวัสดิ์
4.สมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนกลาง)
5.คำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า)
6.บทพระราชนิพนธ์โคลงโต้ตอบกับศรีปราชญ์และกวีมีชื่ออื่นๆ

งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่มีต่อลพบุรีและประเทศชาติ เนื่องจากเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่สองในสมัยนั้นที่พระองค์ทรงโปรดปรานประทับอยู่ที่นี่นานเกือบตลอดปี เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้นจึงจะเสด็จไปประทับ ณ กรุงศรีอยุธยา

ในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การแสดงแสงและเสียง การแสดงสาธิตวิถีชีวิตไทย งานราตรีวังนารายณ์ การละเล่นของเด็กไทย (จุก แกละ โก๊ะ เปีย) และการละเล่นพื้นเมืองมหรสพ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สถานที่จัดงาน คือบริเวณพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี

ก่อนจะมาเป็นงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์นั้น ชาวลพบุรีเคยมีงานประเพณีอยู่อย่างหนึ่ง คือ "งานในวัง" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหารายได้นำไปก่อสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต่อมาจึงได้มีการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๕ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๙

งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกิดขึ้นจากแนวคิดของชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี กับนายเชาวน์วัศ สุดลาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีในขณะนั้น เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงสร้างเมืองลพบุรีให้เจริญรุ่งเรือง การจัดงานครั้งแรก ตั้งชื่องานว่า "นารายณ์รำลึก" ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ "งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์"