View Full Version : กลับสู่สามัญ !! เริ่มร่างบุคลิกภาพตัวการ์ตูนให้ชัดเจนในใจตัวเอง


M150
11-09-2012, 00:11
สำหรับเพื่อนๆ และ น้องๆ ที่ติดตามอ่านการ์ตูนคู่เห่ยกำลังสองกันมา คงจะเห็นแล้วว่า การ์ตูนไม่ได้เขียนกันมานานมาก ส่วนหนึ่งพี่เชื่อเลยว่ามันคือปัญหาของนักเขียนหลายๆ คนเลยว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เรา "หมดความกระตือรือร้น" ที่จะเขียนการ์ตูน ซึ่งมันมักจะสอดคล้องกับจุดที่เรียกว่า "รู้ไส้รู้พุงตัวละคร" หมดแล้ว มันก็นำมาสู่การหมดความลึกลับการให้ชวนติดตาม ทั้งในมุมมองของผู้เขียนและผู้อ่านในเวลาเดียวกัน สำหรับตัวพี่เอ็มแล้ว ยอมรับเลยครับว่ามันไปสู่จุดตรงนั้นแล้วจริงๆ พอถึงตรงจุดนั้น เราก็เลยตีความเหมารวมกันไปเองว่า "หมดมุข" คิดอะไรก็ไม่ออก ประมาณนั้นไปเสียอีก ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของนักเขียนหรือนักวาดการ์ตูนมืออาชีพที่เขาทำกันคือ "การกำจัดตัวละคร และ เพิ่มตัวละครใหม่" ซึ่งวิธีพวกนี้ใช้ง่ายและได้ผลจริง เช่นในละครซิตคอมเห็นกันบ่อยเหลือเกิน สำหรับพี่เอ็มแล้วพี่เอ็มเลือกใช้วิธีการที่ใกล้เคียงกัน คือ "การเพิ่มมิติให้ตัวละคร ลดบทบาท และ เพิ่มตัวละครใหม่"


http://board.roigoo.com/attachment.php?attachmentid=4589&stc=1&d=1347296958

เป็นเหตุผลให้ก่อนหน้านี้สักสัปดาห์เมื่อพี่รู้สึกอยากวาดการ์ตูนที่พี่รักอีกครั้ง ก็เลยหยิบมันมาปัดฝุ่น และ ตั้งคำถามกับตัวเองด้วยคำถามง่ายๆ เพื่อเพิ่มมิติให้กับตัวละครเช่น "ไอ้พวกนี้ต่อไปมันจะไปทำอาชีพอะไรกัน" นี่คือการเพิ่มมิติการ์ตูนด้วยคำถามง่ายๆ ที่ถามถึงเรื่องในอนาคต หรือ ไม่ก็ถามคำถามในอดีตเช่น "หยิกเคยเรียน ร.ด. ไหม" ด้วยคำาถามเหล่านี้ ทำให้ตัวเราเข้าใจตัวการ์ตูนของเรามากขึ้นอีกเยอะ นั่นยังไม่รวมถึงการเขียนบุคลิกภาพตัวการ์ตูนของเราให้ค่อนข้างชัดเจนขึ้นกว่าเดิม ด้วยบุคลิกภาพเล็กๆ น้อยที่เราอาจจะมองข้าม แต่ผู้อ่านอาจจะอยากรู้ ตัวอย่างเช่น "หยิกสายตาดีมาก ค่าสายตา 0.00" อะไรแบบนี้ หรือ ถ้าจะเอาหลักสูตรเทพเช่นเดียวกับการเขียนนิยาย ลองหาคำตอบให้กับตัวการ์ตูนของเราด้วยหัวข้อที่ว่า "ตัวการ์ตูนมีเรื่องราวอย่างไร มีอดีตอย่างไร และ มีความลับอย่างไร" ผมชอบมากที่ฝรั่งเขาใช้คำพูดว่า "Everyone has story. Everyone has past. Everyone has secret." ลองใช้วิธีการคิดแบบนี้ดูครับ มันคือเบสิคพื้นฐานของการเขียนนิยายและการเขียนเรื่องการ์ตูนเลยก็ว่าได้ แต่สุดท้ายหลายคนก็ยังมองข้ามไป นี่แหละครับที่เขาเลยมักจะเรียกว่า "บางครั้งสูงสุดก็ต้องกลับสู่สามัญ" มันถึงจะพัฒนาต่อไป