View Full Version : ภาษาไทยกับประชาคมอาเซียน เรื่องจริงที่น้องๆควรทราบ


NuRay
01-10-2012, 10:08
ประชาคมอาเซียนกำลังจะเปิดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้วนะคะ เรื่องของภาษาไทยอาจจะเป็นเรื่องที่มีคนพูดถึงน้อยมาก เพราะว่ามีแต่คนอยากจะแห่กันไปเรียนภาษาอังกฤษและก็ภาษาจีนกันหมด แต่ในบทความนี้เขียนถึงประชาคมอาเซียนที่มีบางประเทศสนใจการศึกษาภาษาไทยเป็นอย่างมาก และมันอาจจะเป็นเรื่องดีถ้าเราเห็นเด็กไทยของเราอยากใช้ภาษามากขึ้นกว่านี้

แม้ว่าวันนี้ภาษาไทยจะไม่ใช่ภาษากลางของประชาคมอาเซียน แต่ตัวเลขการเข้ามาเรียนภาษาไทยของคนอาเซียนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน สะท้อนว่าสมบัติของชาติ ทำให้คนไทยมีที่ยืนในเวทีอาเซียนได้อย่างเต็มภาคภูมิ

"ก. -ะ กะ ก.-า กา ข. -ะ ขะ ข.-า ขา " เสียงฝึกอ่านภาษาไทยที่คนไทยทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดีเมื่อครั้งยังเด็ก เสียงนั้นถูกเปล่งออกมาอีกครั้งแต่ทว่าแปร่งหูและไม่ใช่เสียงเด็กที่กำลังหัดพูดอ่านเขียน แต่มันออกมาจากปากของนักศึกษาต่างชาติ หรือจะพูดให้ถูกก็คือนักศึกษาเพื่อนบ้านของไทยที่วันนี้พวกเขาให้ความสนใจหันมาเรียนรู้ภาษาไทยกันมากขึ้น

http://board.roigoo.com/members/ohmohm-albums-aec-picture1163-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9915.jpg (http://board.roigoo.com/members/ohmohm-albums-aec-picture1163-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9915.html)


ครั้งหนึ่งสังคมไทยถูกกระตุ้นให้ต้องขบคิดกันไม่น้อยเกี่ยวกับประเด็นของ 'ภาษาไทย' ว่าเมื่ออาเซียนรวมตัวเป็นประชาคมเดียวกันในอนาคตอันใกล้ ภาษาไทยอาจจะมีความสำคัญในเวทีอาเซียนถึงขั้นเป็นภาษากลางเลยทีเดียว ซึ่งข้อมูลนี้ไม่ได้กล่าวกันลอยๆ แต่อ้างอิงมาจากผลงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "การเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับการเปิดตลาดอาเซียน" ที่พบว่าภาษาไทยจะมีความสำคัญในการสื่อสารและการมีงานทำ และจะเป็นภาษากลางของกลุ่มประเทศอาเซียนเท่าเทียมกับภาษาอังกฤษ เพราะต่อไปประเทศไทยจะถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มีการเปิดเสรีการศึกษา ทั้งยังศึกษาพบว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว เขมร และพม่า สนใจมาเรียนภาษาไทยมากขึ้นด้วย

ภาษาไทยกันเถอะ

หากมองในแง่ร้ายที่สุด ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะของภาษาไทยตอนนี้กำลังถูกบั่นทอนความสำคัญลงไปเรื่อยๆ อาจเพราะความนิยมภาษาแบบใหม่ของวัยรุ่นสมัยนี้มักเป็นการพูดไทยปนอังกฤษปนเกาหลี การใช้ภาษาแชท ภาษาอีโมติคอล และภาษาสก๊อย ทำให้คำไทยบางคำไม่มีใครใช้กันอีกต่อไป หรือคนที่ใช้คำไทยๆ ก็กลายเป็น 'เชย' ไม่ทันกระแส Social Network

ขณะที่เรากำลังละทิ้งอัตลักษณ์บางอย่างของความเป็นคนไทย แต่อีกด้านหนึ่ง คนจากประเทศเพื่อนบ้านกลับเห็นความสำคัญของภาษาไทยและเดินทางเข้ามาศึกษากันมากขึ้น ไม่ใช่เพราะความเก๋ แต่เป็นการเตรียมตัวและเพิ่มพูนทักษะทางภาษาให้กับตัวเองก่อนที่ประชาคมอาเซียนจะมาถึงในอีก 2 ปีครึ่ง

"ได้รู้ภาษาอาเซียนเพิ่มอีก 1 ภาษาผมว่าก็ดีนะ อย่างน้อยก็มีทักษะดีกว่าคนที่ไม่ได้เรียน ผมรู้ภาษาไทยได้ลึกซึ้งกว่า เวลามีบทความหรือข่าวต่างๆ ก็อ่านได้เร็วกว่า มีประโยชน์ตรงนี้ รวมถึงเรื่องหน้าที่การงานถ้าองค์กรของเรามีความร่วมมือระหว่างไทย-ลาวแบบนี้จะมีผลดีแน่นอน เราจะมีเครดิตดีกว่าเพื่อน สามารถคุยประสานงานกับคนไทยได้" อรุณยเดช บุริยผล นิสิตชาวลาวที่เข้ามาเรียนต่อระดับปริญญาโทในไทยที่คณะวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มเล่าถึงความสำคัญของการเพิ่มทักษะทางภาษา

เขาเล่าอีกว่า เข้ามาเรียนโทโดยผ่านการสอบชิงทุนรัฐบาลไทย เมื่อสอบผ่านแล้วจากนั้นต้องมาเรียนภาษาไทยเพื่อปรับพื้นฐานเป็นเวลา 3 เดือนจึงจะสามารถเข้าเรียนในคณะที่เลือกไว้ได้ แต่การเรียนภาษาไทยในช่วงเวลาสั้นๆ สามารถพัฒนาทักษะการฟัง พูด และอ่าน อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับทักษะการเขียน แต่อย่างน้อยก็ทำให้เขาสื่อสารกับคนไทยได้ราบรื่นและมีประโยชน์ในการทำงานของตัวเอง

"ที่ลาวผมทำงานที่การไฟฟ้าครับ คือจบปริญญาตรีสาขาไฟฟ้าที่ลาวแล้วอยากเรียนต่อในสาขาเดิมเพื่อนำความรู้ไปใช้ในการทำงานก็เลยสอบชิงทุนมาเรียนต่อที่นี่ ปกติการไฟฟ้าของที่โน่นกับที่นี่ก็มีความร่วมมือด้วยกันอยู่แล้ว ถ้าจบไปแล้วเราได้ทำงานส่วนนั้นก็จะมีผลดีกับตัวเราขึ้นไปอีก และตัวภาษาไทยเองเป็นภาษาที่สวยงาม มีคำที่มีรากศัพท์และคนไทยยังใช้คำเหล่านี้ในชีวิตประจำวันอยู่ อย่างเช่นคำที่มาจากภาษาบาลีเมื่อได้อ่านก็ทำให้รู้ลึกลงไปว่ามีความหมายและมีที่มาอย่างไร ภาษาไทยมีเสน่ห์ตรงนี้ครับผมชอบเหมือนกัน เรียนสนุกดีครับ ทั่วไปมันก็คล้ายๆ กับภาษาลาวนะครับ แต่ว่ารายละเอียดไม่เหมือนเสียทีเดียว จะมีศัพท์ยากๆ มีพวกการันต์หรือวรรณยุกต์เข้ามาด้วย ซึ่งก็จะฝึกตัวเองโดยการดูสื่อต่างๆ ที่มาจากไทย เช่น ดูทีวี ฟังเพลงครับ"

นาคินฐร์ เหวียน ไกด์ชาวเวียดนามที่พูดภาษาไทยได้คล่องเหมือนเจ้าของภาษาบอกว่า เขาเลือกเข้ามาเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในไทยก็เพื่อให้ตนเองมีโอกาสในการงานที่ดีขึ้น ความที่นาคินฐร์มีบริษัททัวร์ของตัวเองจึงอยากเรียนต่อที่ไทยในสายท่องเที่ยวโดยตรง ซึ่งเขาสามารถสอบชิงทุนเข้ามาเรียนที่คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จนสำเร็จการศึกษา แต่ก่อนจะเข้าเรียนก็ต้องเรียนปรับพื้นฐานความรู้ภาษาไทยก่อนเช่นกัน

"ตอนนี้คนเวียดนามมาเรียนเมืองไทยเยอะเลยครับ ในระดับปริญญาตรีนะ คือไม่ได้มาเรียนหลักสูตรภาษาไทยโดยตรงแต่มาเรียนในสาขาอื่น ซึ่งก่อนเข้าสาขาต้องไปเรียนที่คณมนุษยฯ เอกภาษาไทยก่อน 1 ปี ตอนนี้ก็ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้แล้วครับ ถามว่ายากไหมมันก็ขึ้นอยู่กับวิธีการเรียนและโอกาสที่ได้เรียนด้วย คือถ้าคุณเรียนภาษาไทยที่เวียดนามจะแบบหนึ่ง แต่เรียนไทยที่เมืองไทยมันจะอีกแบบ มันจะคล่องตัวกว่าเพราะเราเจอคนไทย ได้คุยกับคนไทยทุกวันทำให้เรียนรู้ได้เร็ว"

อาชีพไกด์ ภาษาเป็นเรื่องสำคัญ นาคินฐร์บอกว่ายิ่งทำทัวร์ในเมืองไทยก็ต้องเรียนภาษาไทยเสริมทักษะให้ตนเอง เพื่อที่จะได้สื่อสารกับลูกค้าคนไทยได้ง่าย อย่างการทำทัวร์นอกจากจะฟังและพูดได้แล้ว บางครั้งเอเย่นส่งโปรแกรมทัวร์มาเป็นภาษาไทย เขาก็สามารถแปลเป็นภาษาเวียดนามส่งกลับไปได้

"การสื่อสารภาษาอื่นๆ ในอาเซียนได้มันก็ย่อมดีกว่า อนาคตอาเซียนกำลังจะเปิด ไม่ใช่แค่คนประเทศผมที่เรียนภาษาไทย คนชาติอื่นๆ ในอาเซียนก็เห็นว่าเขาเรียนเหมือนกัน และมองว่าประเทศไทยเองก็ต้องเรียนภาษาของเพื่อนบ้านด้วย ถ้าคุณอยากทำธุรกิจหรือติดต่อกับประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นสมาชิกอาเซียน คุณก็ต้องเรียนภาษานั้นเพื่อที่จะได้สื่อสารได้ ถ้าคุณอยากทำธุรกิจกับเวียดนามคุณก็ต้องเรียนภาษาเวียดนามไว้บ้าง การเรียนภาษายิ่งรู้มากกว่าคนอื่นเราก็จะได้เปรียบคนอื่น"

ภาษาอาเซียน

ชาวลาว เวียดนาม พม่า และเขมรที่เข้ามาเรียนภาษาไทยกันเพิ่มขึ้น นั่นเป็นเพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจและลงทุนในไทย จึงต้องการที่จะใช้ภาษาไทยให้ได้คล่องขึ้น แต่อีกฟากหนึ่งของอาเซียนในกลุ่มประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และฟิลิปปินส์ พวกเขากลับใช้ภาษาอังกฤษ มาเลย์ และจีนเป็นหลัก ฉะนั้นหากจะบอกว่าภาษาไทยจะเป็นภาษากลางของอาเซียนเท่าเทียมภาษาอังกฤษ คงใช้ไม่ได้กับทุกมิติในประชาคม

แต่ถ้าเฉพาะเจาะจงลงไปในมิติของเศรษฐกิจหรือ AEC ที่กำลังจะมาก่อนมิติอื่นๆ เชื่อว่าในบรรดาภาษาที่ใช้ติดต่อสื่อสารทางธุรกิจต้องมีภาษาไทยติดโผอยู่อันดับต้นๆ แน่นอน ประเด็นนี้ มาโนช แตงตุ้ม หน่วยสนับสนุนวิชาการคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นว่า ภาษาไทยจะมีความสำคัญมากขึ้นในอาเซียน แต่อาจจะต้องควบคู่ไปกับภาษามาเลย์(มลายู) เนื่องจากในกลุ่มประเทศอาเซียนโซนข้างล่างที่เป็นมุสลิมเป็นกลุ่มที่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ

"ภาษาอาเซียนคิดว่าไม่น่าจะใช้ภาษาเดียวแน่ๆ ถ้าไม่นับภาษาอังกฤษนะครับ มองว่าภาษากลางอย่างน้อยน่าจะมีสองภาษาเป็นภาษาราชการร่วม โซนทางเหนืออาจจะใช้ภาษาไทย โซนทางใต้อาจจะเป็นภาษามลายู แต่เราก็ไม่ได้แบ่งเป็นคนละฟากละฝ่าย แค่แบ่งตามการใช้ภาษาของคนอาเซียน ตามวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา แต่แน่นอนว่ายังไงทุกชาติก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษมาก่อน"

มาโนชบอกอีกว่า คนไทยจะต้องรู้ว่าต้องการจะติดต่อธุรกิจกับชาติใดก็ต้องขวนขวายเรียนรู้ภาษาของชาตินั้นๆให้มากขึ้น เพราะภาษาเป็นสะพานแรกที่จะเชื่อมไปสู่มิติต่างๆ ของเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการทำธุรกิจกับเรานอกจากภาษาอังกฤษแล้ว แน่นอนว่าหากใช้ภาษาไทยได้ด้วยจะยิ่งดี และหากมองในแง่ดีการที่ภาษาไทยมีคนอาเซียนหันมาเรียนกันมากขึ้นก็เหมือนภาษาไทยเราได้โกอินเตอร์สู่เวทีอาเซียน ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของไทยที่ชาติอื่นให้การยอมรับ

"คุณได้ประโยชน์สองเด้ง ได้ทั้งภาษาได้ทั้งงาน คนไทยไม่ได้เรื่องมากอะไรหรอกครับ แต่ปัญหาคือภาษาอังกฤษเราอ่อน เราไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ดีเหมือนกับเจ้าของภาษาแน่ๆ แต่คนไทยเราเก่ง มีความพร้อมที่ประเทศสมาชิกจะเข้ามาลงทุน"

นอกจากนี้ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเพิ่มเติมถึงความสำคัญของภาษาไทยว่า อาเซียนรับรู้แล้วว่าประเทศไทยเป็น Hub ของภูมิภาค โดยเฉพาะในส่วนของ AEC เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวส่งนักศึกษาอาเซียนเข้ามาเรียนภาษาไทยในบ้านเราจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน เพื่อตอบโจทย์ประเด็นของการศึกษาที่อาเซียนทำร่วมกัน แต่หลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ภาษาไทยนั้นไม่ใช่แค่เพื่อให้ฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ต้องรู้เข้าไปถึงอุปนิสัย ความชอบ ไม่ชอบ ของคนไทยด้วย

"ตอนนี้เขามียุทธศาสตร์และการวางแผนกันแล้วนะครับ สิ่งที่เห็นชัดเจนมากเลยคือ การเรียนภาษาไทยของเขาไม่ใช่เรียนเพื่อให้รู้ภาษา เขายังเตรียมการในเรื่องของการลงทุน รู้ว่าลูกค้าคนไทยชอบสินค้าและบริการแบบไหน ใช้ภาษาไทยในการสื่อความหมายแบบไหน ทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จ ฉะนั้นการเรียนภาษาไทยจึงเป็น Key หลักในการทำธุรกิจกับเรา"

อาจารย์คณะครุศาสตร์ยังประเมินอีกว่า ปัจจุบันนี้คนอาเซียนส่วนใหญ่หันมาเรียนภาษาไทยมากขึ้นถึง 60 -70 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะคนเวียดนามที่พบว่าเป็นชาติที่มาเรียนภาษาไทยมากที่สุด และเกือบทั้งหมดก็สามารถพูดฟังอ่านเขียนได้เก่งพอๆ กันเจ้าของภาษา นั่นแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ และเอาใจใส่ที่จะเรียนภาษาไทยเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ขณะเดียวกันคนไทยเองกลับยังไม่แม่นภาษาแม่ อีกทั้งภาษาอื่นก็ยังศึกษาได้ไม่ทะลุปรุโปร่ง

"เขารู้ภาษาไทยเรามากขึ้นและรู้ดี แต่เด็กไทยเราไม่ใส่ใจภาษาไทยและยังไม่รู้ภาษาเพื่อนบ้าน ภาษาอังกฤษก็ไม่ดี อันนี้เป็นความเสี่ยงในอนาคตครับ คุณจะสู้เด็กต่างชาติในกลุ่มอาเซียนไม่ได้แล้ว ตอนนี้เด็กไทยก็ต้องเลิกฟุ้งซ่านที่จะเป็นซุปเปอร์สตาร์ ไม่ใช่อยู่กันแบบสนุกสนานไร้สาระ ผมพูดตรงๆ ควรจะต้องกลับมาเรียนรู้ข้อเท็จจริง เรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้าน ไม่ Look down ภาษาเพื่อนบ้าน รู้จักภาษาไทยให้ดี แล้วก็เริ่มภาษาอังกฤษให้แม่น ถ้าคุณไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เพิ่มเติมสิ่งที่เป็นสาระให้ชีวิตคุณ คุณจะกลายเป็นลูกจ้างกันเยอะ แต่เป็นผู้ประกอบการหรือเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจใน AEC ค่อนข้างยาก"

http://board.roigoo.com/attachment.php?attachmentid=4742&stc=1&d=1349060853


การเริ่มเตรียมตัวเองเพื่อให้พร้อมกับ AEC อาจยังไม่สายเกินไป แต่อาจารย์สมพงษ์แนะนำว่า เด็กไทยควรเปลี่ยนแปลงทัศนคติเกี่ยวกับภาษา แม้ว่าวันนี้คนอาเซียนจะพูดไทยได้มากขึ้น แต่คนไทยเองจะนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องเป็นเจ้าของภาษาอย่างเต็มภาคภูมิและพยายามเพิ่มเติมทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาคอมพิวเตอร์ และภาษาของเพื่อนบ้านให้ได้ ส่วนการปรับตัวอาจเริ่มได้จากข้อแรก มองความเป็นไทยของตัวเองให้ชัดเจน และต้องมีความเป็นสากลที่ดียิ่งขึ้น ข้อสอง ต้องเรียนรู้เรื่องอาเซียนไม่ใช่แค่เปลือก ไม่ใช่เรียนรู้เรื่องธง เรื่องสัญลักษณ์ หรือเครื่องแต่งกาย ต้องรู้ลึกเข้าไปถึงแต่ละประเทศว่าเขามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร

"และข้อสาม คนไทยต้องเลิกมีอคติกับภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านได้แล้ว เช่น บางคนคิดว่าคนไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นก็เลยพูดอังกฤษไม่เก่ง หรือคิดว่าภาษาเพื่อนเป็นภาษาที่อ่อนกว่าเรา ด้อยกว่าเรา หรือดูว่าไม่เท่ อะไรเหล่านี้เราต้องปรับทัศนคติของตัวเองใหม่ ปรับได้ยิ่งเร็วยิ่งดี" อาจารย์สมพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

กรุงเทพธุรกิจ