View Full Version : ประวัติบุคคลสําคัญในวงการนาฏศิลป์ไทย "หลวงวิจิตรวาทการ"


อับดุล
18-06-2013, 16:30
ประวัติบุคคลสําคัญในวงการนาฏศิลป์ไทย (http://board.roigoo.com/tags/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8F%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.html) "หลวงวิจิตรวาทการ" พูดได้ว่าเมืองไทยนั้นมีศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม ยิ่งประวัติบุคคลสําคัญในวงการนาฏศิลป์ไทยด้วยแล้ว น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านทั้งหลายคือครู ที่ริเริ่มสร้างศิลปะมาอวดสู่สายตาชาวโลกให้เป็นที่เลื่องลือ หากเรามองกันจริง ๆ แล้วนาฏศิลป์ไทยนั้นอ่อนช้อย งดงาม กว่าชาติอื่น ๆ ดูมีมนต์ขลังในตัวเอง ยิ่งหากเรามีความกังวลใจ ไม่สบายใจหากได้รับชม รับฟัง ก็จะกล่อมเกลาจิตใจให้ สงบลงได้ นอกจากความเพลิดเพลินยังแฝงไปด้วยลีลา ท่วงท่าที่งดงามและเครื่องแต่งกายที่วิจิตร ทำให้จิตใจที่กังวลก็มลายหายไป นาฏศิลป์ไทย จึงมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์รักษาไว้สืบต่อไปเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงศิลปะที่ควรค่าแขนงนี้ เรามาลองดูว่ามีความเป็นมาอย่างไร นาฏศิลป์ ไทย จึงโด่งดังระดับโลกเช่นทุกวันนี้


http://board.roigoo.com/attachment.php?attachmentid=7114&stc=1&d=1371584967 (http://board.roigoo.com/tags/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8F%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.html)


ประวัติชีวิตตอนต้น
หลวงวิจิตรวาทการ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พุทธศักราช 2441 เจ้าของประวัติบันทึกไว้ว่า "ข้าพเจ้าเกิดบนแพ ริมแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อรู้ความ เห็นบิดามารดาของข้าพเจ้ามีเรือพายม้าลำหนึ่ง แม่แจวหัว และพ่อแจวท้าย พวกข้าพเจ้าเป็นพวกมีลูกมาก แม่ของข้าพเจ้ามีลูกถึง 8 คน"
"แม่ของข้าพเจ้าถึงแก่กรรมตั้งแต่ตัวข้าพเจ้ายังเล็ก ข้าพเจ้าเริ่มลำดับความต่างๆ ได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จำได้ว่าพ่อเคยเขียน ก. ข. ใส่กระดานชนวนไว้ให้ในเวลากลางคืน และพอ 4 นาฬิกา ก็ต้องแจวเรือไปค้าขายสองคนกับแม่ เวลานอนก็นอนกับย่า ซึ่งเป็นคนจดจำนิยายต่างๆ ไว้ได้มาก และเล่าให้ฟังเสมอ จนกระทั่งเรื่องสังข์ทอง เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอิเหนา เรื่องพระอภัยมณี และเรื่องขุนช้างขุนแผนเหล่านี้ อยู่ในสมองของข้าพเจ้าหมดก่อนที่จะลงมืออ่านได้เอง เมื่ออายุ 8 ขวบ ได้เข้าโรงเรียนวัดขวิด ตำบลสะแกกรัง สอบไล่ได้ชั้นประโยคประถม พ่อแม่ไม่มีทุนจะให้เข้าศึกษาต่อไป จึงเปลี่ยนวิธีใหม่ ได้เข้าศึกษาในทางธรรมอยู่ในวัดมหาธาตุตั้งแต่อายุ 13 ขวบ จนถึงอายุ 20 ปี สอบไล่ได้เปรียญ 5 ประโยค จึงออกจากวัด"

มีคนพูดกันแต่เดิมว่า หลวงวิจิตรวาทการ มีเชื้อสายเป็นจีน เพราะชื่อ "กิมเหลียง" ซึ่งเป็นชื่อเดิม ข้อนี้ตามเอกสารของหลวงวิจิตรวาทการยืนยันไว้เองว่า "มีประเพณีพิเศษอยู่อย่างหนึ่งในจังหวัดอุทัยธานีเวลานั้น คือ บิดามารดามีชื่อเป็นไทยแท้ๆ แต่ลูกต้องมีชื่อเป็นจีน บิดาของข้าพเจ้าชื่ออิน มารดาชื่อคล้าย ซึ่งเป็นชือ่ไทยแม้ๆ ข้าพเจ้าเห็นบิดาของข้าพเจ้าบวชในบวรพุทธศาสนา ไม่เคยเห็นไหว้เจ้า และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไทย แต่ตัวข้าพเจ้ากลับได้ชื่อเป็นจีน น้องๆ คนหลังๆ เมื่อเกิดมาได้ตั้งชื่อเป็นไทย แต่พอข้าพเจ้าไปยุโรปกลับมา เห็นเขาเปลี่ยนชื่อจีนไปหมด อิทธิพลของจีนในจังหวัดอุทัยธานีนับว่าล้นเหลือ"

เมื่อออกจากวัดแล้ว หลวงวิจิตรวาทการเริ่มเข้ารับราชการในกองการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ไม่เป็นการยากเลยสำหรับท่าน ที่จะเป็นคนเด่นคนดีขึ้นมาในกอง ทั้งๆ ที่เป็นคนเข้ามาใหม่ เพราะเพียงแต่มาทำงานตรงเวลาเท่านั้น ก็เป็นคนเด่นคนดีได้แล้ว บุคคลแรกที่ท่านไปยอมตัวเป็นสานุศิษย์ก็คือนายเวรผู้เฒ่านั่นเอง แทนที่จะรอให้เขาจ่ายงานมาให้ หลวงวิจิตรวาทการไปของานเขาทำ ขอให้เขาสอนให้ เริ่มจากงานง่ายไปหางานยกขึ้นโดยลำดับ ก่อนที่คนอื่นจะมาพร้อม หลวงวิจิตรวาทการทำงานเสร็จไปแล้วอย่างน้อยสองเรื่อง ชื่อของท่านจึงได้สะดุดตาผู้ใหญ่ไปทุกวัน ทั้งๆ ที่เป็นเสมียนชั้นต่ำที่สุด ท่านกล่าวว่าไม่เป็นการยากลำบากเกินไปเลย ที่จะสร้างความเด่นความสำคัญให้แก่ตัว ขอแต่เพียงให้มีความมักใหญ่ใฝ่สูงในการทำงาน และสร้างความดีเด่นของตนด้วย "งาน" ไม่ใช่ด้วยวิธีอื่น

ภายหลังที่ได้ทำงานในกองการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเวลา 2 ปี หลวงวิจิตรวาทการได้มีโอกาสออกไปยุโรป ในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการสถานทูตไทยประจำกรุงปารีส ท่านมีส่วนได้เปรียบคนอื่นๆ โดยที่เป็นคนรู้ภาษาไทยดีกว่าคนอื่นในสถานทูต ทำให้ท่านได้ทำงานอย่างกว้างขวาง จึงได้รับหน้าที่ตามเสด็จท่านราชทูตไปในการประชุมหรือในงานเจรจาทุกแห่ง และที่สำคัญต้องทำรายงานส่งเข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นภาษาไทย

ในที่สุดหลวงวิจิตรวาทการก็ได้พบงานประจำสำหรับตัวท่าน คืองานสันนิบาตชาติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ได้ทรงเขียนไว้ที่หนึ่งว่า "การได้เข้าประชุม และทำงานสันนิบาตชาตินั้น เท่ากับว่าได้ผ่านการศึกษาในมหาวัทยาลัยขั้นสูงสุด" หลวงวิจิตรวาทการเห็นจะภูมิใจในตัวเอง ที่ผ่านการศึกษาในมหาวิทยาลัยสูงสุดมาแล้ว 5 ปี ท่านเป็นคนเขียนรายงานการประชุมตั้งแต่ต้นจนปลาย รายงานการประชุมครั้งหนึ่งๆ เป็นหน้ากระดาษพิมพ์ดีดไม่น้อยกว่า 100 หน้า ท่านร่างเอง และพิมพ์เอง

หลวงวิจิตรวาทการรับราชการอยาในสถานทูตปารีส 6 ปีเต็ม กระทรวงการต่างประเทศจึงได้สั่งย้ายท่านไปรับราชการในสถานทูตไทยที่กรุงลอนดอน ท่านอยู่ลอนดอนได้ไม่นาน ก็ได้ถูกเรียกกลับมารับราชการในกรุงเทพฯ และตำแน่งที่หลวงวิจิตรวาทการได้รับในกรุงเทพฯ ต่อจากนั้นมา ได้ช่วยให้ท่านเรียนรู้งานของกระทรวงการต่างประเทศอย่างทั่วถึง เพราะถูกโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่ไม่หยุดหย่อน ในปี พ.ศ. 2475 ท่านได้เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ

อธิบดีกรมศิลปากร

เมื่อปี พ.ศ. 2477 หลวงวิจิตรวาทการ ได้ย้ายมาเป็นอธิบดีกรมศิลปากรเป็นคนแรก เมื่อเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ท่านได้รับความยากลำบากเป็นที่สุด เพราะท่านไม่ได้เกิดมาเป็นนักศิลปะ ท่านเกิดในกระทรวงการต่างประเทศ โดยไม่เคยเกี่ยวข้องกับงานศิลปากร มูลเหตุที่ให้ท่านเข้าไปเป็นอธิบดีกรมศิลปากรนั้น ก็ดูเหมือนจะมีอย่างเดียวคือ ในบรรดางานศิลปากรในเวลานั้น งานที่สำคัญที่สุดคืองานหอสมุดแห่งชาติ ท่านชอบหนังสือ ชอบการค้นคว้า และแต่งหนังสืออยู่มากแล้ว ผลที่รัฐบาลหวังจากท่านในเวลานั้นก็คือจะให้ท่านสร้างสรรค์งานหอสมุดให้ดีที่สุด


แต่เมื่อเข้าไปถึง ก็ได้พบงานอีกหลายอย่างที่หลวงวิจิตรวาทการไม่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืองานสถาปัตยกรรม ช่างเขียน ช่างปั้น และยิ่งกว่านั้น ก่อนท่านเข้าไปก็ได้มีกฎหมายระบุหน้าที่กรมศิลปากรไว้ว่า ต้องรับผิดชอบในเรื่องงานละคร และดนตรีด้วย มีคนเข้าใจผิดเป็นอันมาก ว่าเรื่องละคร และดนตรีของกรมศิลปากรหรือโรงเรียนฟ้อนรำ และดนตรีนั้น

หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้คิดตั้งขึ้นด้วยความคิดริเริ่มของท่านเอง ความจริงเรื่องโรงเรียนฟ้อนรำ และดนตรี ที่เป็นโรงเรียนศิลปากรอยู่เวลานี้ มีบัญญัติอยู่ในกฎหมายคือ พระราชกฤษฎีกาแบ่งกองแบ่งแผนกสำหรับกรมศิลปากร ซึ่งได้ประกาศใช้แล้วก่อนท่านเข้าไปเป็นอธิบดี หลวงวิจิตรวาทการไม่ได้คิดอะไรใหม่ ไม่ได้มีแผนการโลดโผนอย่างหนึ่งอย่างใด ท่านเข้าไปด้วยความเคารพต่อทุกสิ่งทุกอย่าง งานหอสมุดก็ดี งานพิพิธภัณฑ์ก็ดี งานช่างก็ดี เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือของชาวไทยทั่วไป ได้ทรงสร้างไว้ด้วยความเหนื่อยยาก และอุตสาหะพยายามเป็นอย่างยิ่ง ท่านเข้าไปด้วยความเคารพบูชา และตั้งปณิธานอันแน่วแน่ว่า สิ่งที่ท่านได้สร้างไว้แล้วจะไม่ยอมให้เสื่อมโทรมเลยเป็นอันขาด ท่านจะดำเนินเจริญรอย และทำต่อไปตามแผนการ ให้งานเจริญก้าวหน้า และแตกกิ่งก้านสาขาออกไป โดยไม่รื้อทำใหม่หรือเปลี่ยนแปลงอะไร

เว้นแต่งานอันหนึ่ง ซึ่งได้ออกกฎหมายไว้ แต่ยังมิได้ลงมือทำ คืองานละคร และดนตรี หลวงวิจิตรวาทการจะต้องทำในฐานะงานใหม่ของท่าน ซึ่งท่านเองก็ไม่มีวิชาความรู้ในเรื่องนี้มาก่อน เคยสนใจในเรื่องละคร และดนตรีมาบ้างเมื่ออยู่ยุโรป แต่ก็สนใจแต่เพียงดูเพื่อความสนุกบันเทิงเท่านั้น เมือ่จำต้องทำด้วยตัวเอง ก็ต้องค้นคว้าเล่าเรียนเอาเอง เป็นการเปลี่ยนชีวิตของท่าน ท่านถูกความจำเป็นบังคับให้กลายเป็นนักศิลปะ ซึ่งไม่เคยนึกฝันมาแต่ก่อนว่าจะต้องเป็น ฯลฯ


ถ้าหากหลวงวิจิตรวาทการได้สร้างความสำเร็จสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้ให้แก่กรมศิลปากร ก็เป็นเพราะเหตุอย่างเดียวคือ ท่านไม่ได้รื้อของเก่า สิ่งไรที่มีอยู่เดิมแล้ว เช่น การหอสมุด และพิพิธภัณฑ์ ท่านได้ทำต่อไป หอสมุดวึ่งเดิมมีเพียงในกรุงเทพฯ ท่านได้จัดการเปิดสาขาหอสมุดในต่างจังหวัด และสำเร็จไปได้หลายสิบแห่ง งานพิธภัณฑ์ และโบราณคดี ก็ได้ทำไปโดยอาศัยหลักเดิม แต่ได้ขยายให้มีผลไพศาลยิ่งขึ้น


โดยเหตุดังว่านี้ หลวงวิจิตรวาทการจึงใคร่เสนอข้อแนะนำแก่ผู้ที่ทำงาน โดยหวังจะขึ้นสู่ตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ว่า ความก้าวหน้าของกิจการทั้งหลายจะมีขึ้นได้ ก็โดยผู้รับหน้าที่ตำแหน่งต่อกันไปนั้น ได้ทำงานต่อไปจากที่คนเก่าเขาทำแล้ว และไม่ด่วนลงความเห็นว่าคนเก่าเขาทำไว้เหลวไหล ถ้าทุกคนที่เข้าไปรับตำแหน่งใหม่เริ่มงานกันใหม่ทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีวันที่งานจะก้าวหน้าไปได้เลย

ชาตินิยม
ในระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้ฟุ้งเฟื่องอยู่ในหมู่ประชาชน ด้วยการคิดคำนึงกันขึ้นในบรรดาผู้เป็นคนชั้นหัวหน้าปกครองว่าลัทธิชาตินิยมหรือลัทธิรักชาติลัทธิเดียว จะเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตรายที่จะบังเกิดแก่ชาติได้ทุกทาง และพร้อมกันก็จะเป็นเครื่องมือสร้างชาติได้ดีกว่าเครื่องมืออย่างอื่น การจะปลูกฝังลัทธิชาตินิยมได้โดยสะดวก และมีทางเข้าถึงประชาชนได้ง่ายมีอยู่ทางหนึ่ง ดีกว่าทางอื่นๆ คือปลูกทางดนตรี และละคร อันเป็นงานที่กรมศิลปากรจะต้องทำอยู่ตามหน้าที่

หลวงวิจิตรวาทการได้รับมอบหมายให้มาทำงาน "ปลูกต้นรักชาติ" ขึ้นในหัวใจประชาชน โดยการแต่งละครประวัติศาสตร์ และเพลงที่เป็นบทปลุกใจให้รักชาติขึ้นในระยะเวลาติดต่อกัน อาทิ เช่น ละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง น่านเจ้า เลือดสุพรรณ ราชมนู พระเจ้ากรุงธน อานุภาพแห่งความรัก ศึกถลาง เจ้าหญิงแสนหวี และอื่นๆ อีกมาก เรื่องปลูกต้นรักชาตินี้ หลวงวิจิตรวาทการทำมาไม่ลดละ ตั้งแต่ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา จนกระทั่งเสร็จสงคราม และทำมาจนใกล้สิ้นชีวิต แปลว่าตลอดชีวิตของเจ้าของประวัติ ทำงานเรื่องชาตินิยมมาตลอด เมือ่ใกล้จะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484) ในขณะที่เป็นอธิบดีกรมศิลปากร และเป็นรัฐมนตรีลอยอยู่หลายปี ท่านก็ได้เลื่อนขั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2483) และเมื่อกิจการระหว่างประเทศพัวพันกันมากเข้า ก็ถูกย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ. 2484)

โรงเรียนฟ้อนรำ และดนตรี ซึ่งเรียกว่า "โรงเรียนนาฏดุริยางค์" ได้ตั้งขึ้นท่ามกลางมรสุมแห่งการนินทาว่าร้าย การโจมตีทุกทิศทุกทางในหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ เพราะตั้งแต่เกิดมาเป็นประเทศไทย ก็ยังไม่เคยมีโรงเรียนชนิดนี้ ง่นเต้นกินรำกินถือว่าเป็นงานต่ำ แม้จะรู้กันว่ามีอยู่ในนานาประเทศที่เจริญแล้ว ก็ยังเห็นกันว่าไม่เหมาะสมสำหรับประเทศเรา

ความยากลำบากที่สุดนั้น ก็คือการที่ต้องทำอะไรโดยที่ไม่มีเงิน การของบประมาณกรมศิลปากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานละคร และดนตรีนั้น ร้ายยิ่งกว่าขอทาน เพราะนอกจากจะไม่ได้แล้ว ยังถูกเย้ยหยันในการประชุมกรรมการพิจารณางบประมาณ มีหลายครั้งที่ท่านเกิดความคิดจะขอกลับไปกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่เกิดของท่าน และได้ทำงานมาโดยมิต้องถูกมรสุมความเย้ยหยันหรือความดูถูกดูหมิ่น แต่ท่านก็ต้องอยู่ อยู่สร้างสิ่งซึ่งท่านมีหน้าที่ต้องสร้าง การตั้งโรงเรียนฟ้อนรำ และดนตรี ซึ่งเรียกว่า "โรงเรียนนาฏดุริยางค์" นั้น ได้อาศัยความช่วยเหลือของกระทรวงธรรมการ ได้ครูมาสอนโรงเรียนนี้ โดยรับเงินเดือนทางกระทรวงไปพลาง จนกว่ากรมศิลปากรจะมีเงินของตัวเอง
http://www.thaidances.com/vijitvatakran/history/7.gif

ราวหนึ่งปีภายหลังที่ตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น นักเรียนของโรงเรียนนี้ก็พอออกแสดงได้บ้างแต่ไม่มีโรงแสดง โรงละครในเวลานั้นก็หายากเต็มที และไม่สามารถจะนำนักเรียนไปแสดงที่อื่นได้ จำเป็นที่จะต้องแสดงในเขตที่ของกรมศิลปากร เมื่อไม่มีทางจะทำอย่างอื่น ท่านก็ปลูกโรงไม้ไผ่เอาผ้าเต็นท์มาขึงเป็นหลังคา รวบรวมเก้าอี้เท่าที่จะหาได้ ละครของกรมศิลปากรได้ออกแสดงภายใต้หลังคาผ้าเต็นท์ และเสาไม้ไผ่ แต่เคราะห์ดีก็มีมา โดยที่ในการแสดงครั้งหนึ่ง ท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลานั้น ได้มานั่งดูการแสดง ท่านเจ้าคุณได้บอกให้หลวงวิจิตรวาทการตั้งงบประมาณสำหรับสร้างโรงละคร ท่านจะช่วยเหลือหาเงินให้

หลวงวิจิตรวาทการตั้งงบประมาณไปสำหรับสร้างโรงละครเป็นจำนวนเท่าไหร่จำไม่ได้ แต่ได้รับอนุมัติเพียง 6,500 บาท สำหรับสร้างโรงละคร ไม่รู้จะสร้างอย่างไรได้ พอตั้งเสา และมุงหลังคา เงิน 6,500 บาท ก็หมดไป ไม่มีทางที่จะขออีก และละครเรื่อง "เลือดสุพรรณ" ได้กำเนิดขึ้นในโรงละครราคา 6,500 บาท นั้นนั่นเอง

"เลือดสุพรรณ" ทำให้หมดทุกอย่าง ทำให้โรงละครมีฝารอบขอบชิด มีรูปร่างซึ่งเป็น "หอประชุมศิลปากร" ที่ใช้มาจน 25 ปีให้หลัง การละคร และดนตรีของกรมศิลปากรตั้งตัวขึ้นได้ด้วยละครเรื่อง "เลือดสุพรรณ"

แต่งงาน - ชีวิตครอบครัว

ระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร และเป็นรัฐมนตรีอยู่นั้น หลวงวิจิตรวาทการได้แต่งงานกับนางสาวประภา (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นประภาพรรณ) รพิพันธุ์ อาจารย์โรงเรียนเบญจมราชาลัย บุตรีของขุนวรสาส์นดรุณกิจ เมือ่วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2479 เป็นการเริ่มชีวิตใหม่ที่เนื่องด้วยครอบครัว และความรัก หลวงวิจิตรวาทการเห็นจะได้ชื่อว่าเป็นคนหวานต่อความรัก เป็นสามีที่ดีที่สุด และเมื่อมีลูกก็เป็นพ่อที่ดีที่สุดของลูก ดังบทเสภาตอนหนึ่งที่หลวงวิจิตรวาทการแต่งขึ้นเพื่อขับร้องในวันเกิดของคุณหญิง เมือ่วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2502
"ขออุทิศเส้นประสาทพี่ทั้งสิ้น เป็นสายพิณดีดโปรยให้โหยหวล
ขออุทิศใจพี่ที่รัญจวน เป็นบายศรีชี้ชวนเชิญขวัญตา
ขออุทิศมือทั้งสองเป็นแว่นเทียน โบกเวียนจากซ้ายแล้วไปขวา
ทำขวัญมิ่งมิตรวนิดา ในสี่รอบชันษาของนวลน้อง"


เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว - อาชญากรสงคราม

ชีวิตตอนสงคราม
ประเทศไทยต้องเข้าสงครามมหาเอเชียบูรพา หลวงวิจิตรวาทการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีส่วนรับผิดชอบในงาน "ประกาศสงคราม" ร่วมกับคณะรัฐบาลชุดนั้น พอเสร็จสงครามก็ต้องหาเป็นอาชญากรสงคราม

เจ้าของประวัติเคยบอกว่า การประกาศสงครามที่ตนต้องรับผิดชอบอยู่ด้วยนั้น ช่วยให้สมบัติ และชีวิตของสัมพันธมิตร พ้นจากการถูกญี่ปุ่นยึดเอาไปเป็นทรัพย์เชลยได้เกือบหมด ตลอดการสงคราม ไทยก็ได้ใช้ประโยชน์เหล่านี้ให้เกิดแก่สัมพันธมิตรตลอดมา และที่สำคัญที่สุดประเทศไทยรอดตัวมาได้จากการถูกยึดเป็นเมืองขึ้นของทั้งสองฝ่าย

"หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าต้องหาฐานอาชญากรสงคราม และถูกเจ้าหน้าที่ในกองทัพบกอเมริกัน ที่กรุงโตเกียวจับตัวไปคุมขัง ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2488 ภายหลังได้ถูกส่งตัวเข้ากรุงเทพฯ ถูกขังอยู่ที่สันติบาล และที่เรือนลหุโทษ จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2489 ศาลฎีกาจึงได้พิพากษาว่าพระราชบัญญัติอาชญากรโมฆะ และได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด"

ออกจากที่คุมขัง หลวงวิจิตรวาทการไม่มีงานทำ จึงจับงานละครใหม่ ตั้งคณะละครชื่อ "วิจิตรศิลป์" แต่คราวนี้ไม่ได้ผล คนไม่ต้องการ "ปลูกต้นรักชาติ" กันแล้ว การละครขาดทุน จึงหันมาเขียนนวนิยายหลายสิบเรื่อง เช่น ห้วงรัก-เหวลึก พานทองรองเลือด มรสุมแห่งชีวิต ดอกฟ้าจำปาศักดิ์ นวนิยายขนาดยาวก็เขียนขึ้นในยามนี้ และท่านยังให้มีการพิมพ์เผยแพร่ผลงานด้านวิชาการ ที่ท่านได้เขียนไว้แล้ว และเขียนขึ้นใหม่ เช่น มันสมอง กำลังใจ กำลังความคิด มหาบุรุษ และอื่นๆ อีกมาก พ.ศ. 2491 รัฐบาลเก่าเปลี่ยนไป จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมาตั้งรัฐบาลใหม่ หลวงวิจิตรวาทการกลับไปเป็นกำลังใหม่ของรัฐบาลนี้อีกครั้งหนึ่ง

รัฐบาลไทยสมัยนั้น เปิดการสัมพันธ์ทางการทูตใหม่กับนานาประเทศ หลวงวิจิตรวาทการไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศอินเดีย (พ.ศ. 2495) แล้วย้ายไปประจำที่ประเทศสวิส ออสเตรีย และยูโกสลาเวีย (พ.ศ. 2496) เป็นเวลานานถึง 7 ปี

อวสานแห่งชีวิต
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งคณะรัฐบาลปฏิวัติขึ้นใหม่ในปลาย พ.ศ. 2500 หลวงวิจิตรวาทการได้เป็นกำลังของคณะปฏิวัติ เดินทางกลับจากยุโรปเข้ามาช่วยจัดการบริหารประเทศ ในฐานะปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

ในช่วงนี้ ท่านก็ได้ทำสิ่งที่ท่านปรารถนาไว้นานแล้วสำเร็จ คือได้รับงบประมาณก่อสร้างโรงละครแห่งชาติปัจจุบัน โดยท่านเป็นประธานกรรมการก่อสร้าง และเป็นผู้วางศิลปาฤกษ์ในปี พ.ศ. 2504

ด้วยเหตุที่ต้องทำงานหนักมาก ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ร่างกายที่ต้องทนงานตรากตรำอย่างหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน ก็เริ่มเสื่อมโทรมลง

ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรีล้มป่วยด้วยโรคหัวใจ เมือ่ราวปลาย พ.ศ. 2504 และได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2505 รวมอายุได้ 64 ปี

ชีวิตของหลวงวิจิตรวาทการ เป็นชีวิตของผู้มีวิริยะมานะกล้าในการทำความดี ได้ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งความเจริญ ชีวิตของท่านได้ดำเนินมาหลายบทบาท เริ่มจากการเป็นนักธรรม เป็นข้าราชการ นักการเมือง นักการทูต เป็นครู - อาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็ยนักประพันธ์ เป็นนักปราชญ์ จากสามเณรเปรียญ 5 ประโยค ท่านได้รับพระราชทานปริญญาบัตรเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2504 ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางการทูต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปีเดียวกัน และปริญญาบัตรอักษรศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2505

ชีวิตของผู้มีวิริยะมานะกล้าในการทำความดีได้ดับไปแล้ว แต่ชีวิตที่ประกอบความดีมานั้น ย่อมมีธรรมคุ้มครอง ตราประจำตระกูลคือ "ดวงประทีปในเรือนแก้ว" จึงมิได้ดับไปตามชีวิตนั้น แต่ยังคงส่งประกายสว่างไสวต่อไปชั่วกาลนาน...

ที่มา thaidance