View Full Version : สร้างแรงบันดาลใจในการเรียน วิธีเรียนให้เก่งไม่ยาก


อับดุล
08-07-2013, 00:34
เรียน เรียน เรียน ทำไมพ่อแม่และผู้ใหญ่ทุกคนถึงขู่เข็ญให้เราขยันเรียนกันนะ นี่อาจเป็นความคิดหนึ่งที่เรามีแต่วันนี้เรามีวิธีดี ๆ แนะนำสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน วิธีเรียนให้เก่งไม่ยาก ทุกอย่างไม่ได้ยากอย่างที่คิด หากเรามีความพยายามเพราะในขณะที่เราเรียนอยู่นั้น เป็นช่วงเวลาที่เรายังไม่รู้รสชาติของความลำบาก หากเราถึงวัยทำงาน เราจะตระหนักรู้ว่า การเรียนนั้นสำคัญไฉน งานดี งานได้เงินเยอะ ๆ ขึ้นอยู่กับการเรียนของเราจริง ๆ หากเรามีผลการเรียนดี ก็จะส่งให้เราได้เข้าเรียนโรงเรียนที่สังคมยอมรับว่าเก่ง และเข้ามหาวิทยาลัยที่สังคมยอมรับว่า เก่งจริง ๆ แล้วเราก็จะได้งานมาแบบ ง่าย ๆ หวานหมู หากเราเริ่มเสียแต่วันนี้อนาคตเราก็เหมือนรอเก็บเกี่ยวผลไม้ที่หอมหวาน และไม่จำเป็นต้องไปลำบากตรากตรำ

http://board.roigoo.com/attachment.php?attachmentid=7423&stc=1&d=1373247586 (http://board.roigoo.com/tags/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99.html)
Image from telegraph.co.uk

วิธีเรียนให้เก่ง

อ่านให้เป็น

ทุกครั้งที่จะอ่าน ควรจินตนาการล่วงหน้าถึงเรื่องที่จะอ่านก่อนว่าเกี่ยวข้องกับอะไร การอ่านด้วยวิธีนี้จะทำให้จำแม่น จำเฉพาะเนื้อหาสำคัญ และมองภาพองค์รวมแบบแผนผังได้ (mind mapping) โดยมีศูนย์กลางเริ่มต้นจากส่วนที่สำคัญที่สุด แล้วแตกแขนงไปที่ส่วนประกอบอื่นๆ ตามปกติคนเราจะอ่านหนังสือจากหน้าไปหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นเรื่องสั้น หรือนวนิยาย การอ่านบทสรุปหรือตอนจบก่อน เป็นเรื่องที่ต้องห้าม แต่ การอ่านเพื่อการเรียนรู้ จะตรงกันข้าม ยิ่งรู้รายละเอียดล่วงหน้ามากเท่าไหร่ จะทำให้ประสิทธิภาพของการอ่านเพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อต้องการจะเริ่มต้นอ่าน ให้มองไปที่ส่วนท้ายของบทความหรือหนังสือก่อน บทสรุปส่วนใหญ่จะอยู่ที่ส่วนท้ายของแต่ละบท แต่ละตอน รวมไปถึง บทคัดย่อ สารบาญ และคำนำของผู้เขียน การเข้าใจเนื้อหาอย่างคร่าวๆ จะทำให้สามารถจับจุดสำคัญของสิ่งที่กำลังจะอ่านได้ นักอ่านที่เก่งๆจะไม่อ่านทุกตัวอักษร บทสรุปที่บันทึกไว้ในสมองล่วงหน้า จะช่วยให้รู้ว่า ส่วนไหนของเนื้อหาที่สำคัญ และควรเน้นอ่านเป็นพิเศษ
เมื่ออ่านรอบที่สองจบลง จนแน่ใจว่า จับจุดสำคัญได้ครบหมดแล้ว ให้มาเขียนบทสรุปทีละข้อแบบย่อความ โดยใช้ภาษาของคุณเอง และอาจจะเชื่อมโยงแนวคิดส่วนตัวของคุณเข้าไปด้วยก็ได้ เก็บบทสรุปนั้นไว้ เมื่อถืงเวลาที่ต้องทบทวนไม่จำเป็นต้องไปอ่านเนื้อหาทั้งหมดอีกรอบให้เสียเวลา ศิลปะการย่อความเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นการคั้นน้ำออกจนเหลือแต่เนื้อ ยุคนี้เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร แต่ละวันมีอะไรมาให้อ่านมากเหลือเกิน ผู้ที่มีพรสวรรรค์ในการย่อความ จะประสบความสำเร็จเหนือกว่าคนอื่นๆ


จำด้วยความรู้สึก

การจำด้วยความรู้สึก จะลืมยากกว่าการจำด้วยความคิดจึงมีคำพูดที่ว่า ?อยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม? นั่นเป็นเพราะสิ่งที่อยากลืม เป็นความรู้สึกที่ฝังอยู่ในสมองซีกขวาจะลืมยาก
เมื่อมีความประทับใจในบทเพลงหรือภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องใด จงอย่าละเลยการพยายามศึกษาคำศัพท์ที่มีในเพลงหรือภาพยนตร์นั้นให้ละเอียด และเราจะสามารถจำคำศัพท์นั้นไปได้อย่างยาวนาน วิธีนี้จะดีกว่าการท่องศัพท์เป็นคำๆ โดยไม่ใช้ความรู้สึกนำ
การจำเป็นความรู้สึก ควรใช้การท่องในใจเข้ามาช่วย เช่นขณะที่ท่องศัพท์หรือสูตร โดยใช้ตามองตัวอักษร ขณะนั้นความทรงจำจะถูกบันทึกไว้ในสมองอย่างผิวเผิน พร้อมที่จะลืมไปได้ทุกเมื่อ ควรรู้จักสร้างจินตนาการขึ้นในใจ และใช้ตาใน มองเห็นคำศัพท์หรือสูตรนั้นลอยขึ้นมาในใจพร้อมภาพ
การทบทวนในใจ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่แพ้การทบทวนโดยการอ่านหนังสือ เพราะการทบทวนในใจ จะทำได้ก็ต่อเมื่อสามารถสร้างภาพขึ้นในใจให้ได้เสียก่อน ผู้ที่ทบทวนสิ่งที่เรียนมา พยายามคิดวิเคราะห์ในใจอยู่บ่อยๆ สมองจะบันทึกสิ่งนั้นไว้เป็นภาพโดยอัตโนมัติ
คนที่เรียนเก่งจะพยายามจำเป็นภาพ และวิธีที่ง่ายที่สุดในการแปลงข้อมูลให้เป็นภาพ ก็คือ การทบทวนในใจ โดยใช้จินตนาการเข้ามาช่วย การทบทวนในใจสามารถทำได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่า จะบนรถเมล์ ในห้องน้ำ ตอนนั่งเล่นหรือก่อนนอน และประสิทธิผลของการจำเป็นภาพ จะลงลึก แม้เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี อาจจะลืมคำศัพท์ทางเทคนิคไป แต่ความเกี่ยวข้องโยงใยของส่วนต่างๆในภาพจะยังคงอยู่ เช่นเดียวกับการดูภาพยนตร์จนฝังลงไปเป็นความรู้สึก แม้ว่าในอนาคตจะลืมชื่อ ตัวนักแสดง ตัวประกอบ สถานที่ ฯลฯ ของละครเรื่องนั้น แต่เรื่องราว ความเกี่ยวข้องทั้งหมด ยังอยู่ในความทรงจำ

หาจังหวะของตัวเอง

คนเราแต่ละคนมีช่วงเวลาทองของชีวิตไม่เหมือนกัน บางคนสามารถเรียนได้อย่างสนุกในตอนเช้า แต่พอยามบ่ายสมองกลับไม่แล่น บางคนชอบช่วงบ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั่วโมงก่อนโรงเรียนเลิก หรือบางคนไม่ชอบทั้งเช้าทั้งบ่าย แต่เวลาอ่านหนังสือตอนกลางคืนแล้วรู้สึกสนุก หาเวลาทองของตัวเองสักวันละสองชั่วโมง และใช้เวลานั้นสำหรับการศึกษาให้มากที่สุด แม้คุณจะไม่ตั้งใจเรียนในห้องเป็นบางครั้ง แต่มาทบทวนในช่วงเวลาที่ต้องการทบทวน ประสิทธิภาพการเรียน ก็จะไม่ตกลง
ขณะอ่านต้องพักสมองเป็นระยะๆ วิธีพักสมองที่ง่ายๆ โดยไม่ต้องหยุดอ่านหนังสือ คือ สลับการอ่านวิชาที่ใช้สมองซีกขวา เช่น สังคม ภาษาไทย กับ วิชาที่ใช้สมองซีกซ้าย เช่น คณิตศาสตร์ เคมี เมื่อใดที่คุณรู้สึกว่าสมองซีกไหนเริ่มล้า ให้เปลี่ยนไปอ่านวิชาตรงกันข้ามทันที
สำหรับการเริ่มต้นอ่าน จะเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุด ให้เลือกวิชาที่ชอบเป็นทุนเดิมอยู่มาอ่านก่อน เพื่อสร้างอารมณ์ เมื่อมีความรู้สึกอยากอ่านแล้ว ค่อยๆสลับไปอ่านวิชาอื่นที่ไม่ถนัดต่อไป
การให้รางวัลตัวเอง ก็เป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนอย่างหนึ่ง เมื่ออ่านหนังสืออย่างหนัก จนผ่านพ้นการสอบวันสุดท้ายไปด้วยดี อย่ารีรอที่จะให้รางวัลกับตัวเอง อาจไม่ต้องเป็นรางวัลใหญ่มาก แต่เป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีๆ เช่น ดูภาพยนตร์สักเรื่อง ทานอาหารอร่อยๆสักมื้อ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ที่อยากไป ฯลฯ

ทำข้อสอบเก่า

นักเรียนที่เก่งๆจะรู้ว่าการทำโจทย์เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการท่องสูตร เพราะการท่องสูตรต่างๆเป็นร้อยๆสูตร โดยที่ไม่เข้าใจ ไม่มีประโยชน์อันใด เขาจะศึกษาที่มาของสูตรโดยคร่าวๆเป็นเบื้องต้น หลังจากนั้น จะไปหาโจทย์ในเรื่องนั้นๆมาทำ ศึกษาโจทย์จนเข้าใจ แล้วจึงส่งข้อมูลกลับไปที่สมองเพื่อหารายละเอียดว่า ต้องคำนวณอย่างไร นักเรียนที่เข้าถึงเคล็ดลับนี้ จะรู้ว่าคำถามหรือโจทย์ดีๆเป็นสิ่งมีค่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสอบเก่าๆ ของวิชานั้น แนวข้อสอบเก่า จะทำหน้าที่เป็นกรอบที่จะบีบเนื้อหาให้แคบลง เหลือเฉพาะจุดที่สำคัญ สำหรับผู้ที่ไม่มีพรสวรรค์ด้านการจับจุดสำคัญของเนื้อหาในการเรียน แนวข้อสอบเก่าจะช่วยได้ ทำให้ไม่ต้องอ่านหนังสือมากเกินความจำเป็น

ที่มาข้อมูล ทันตแพทย์สม สุจีรา tutorsom.com
และ blog.eduzones.com