เว็บการ์ตูนหรอยกู

กลับไป   เว็บการ์ตูนหรอยกู > General Topic > การศึกษาและเรียนรู้ > วิธีและเทคนิค

ตอบ
อ่าน: 2494 - คำตอบ: 0  
LinkBack คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
เก่า 17-06-2013   #1
Moderator
 
อับดุล's Avatar
 
วันที่สมัคร: Jan 2013
ข้อความ: 173
ถ่ายทอดพลัง: 1
คะแนนหรอย: 34
Default อยากเป็นเจ้าพ่อตลาดหุ้นไหม นี่เลย วิธีเล่นหุ้น

ในนอดีตถึงปัจจุบัน หุ้น ก็ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะนำเงินมาเข้ากระเป๋าเราได้ การเล่นหุ้นอาจมีความเสี่ยงทางการเงิน แต่หากเล่นเป็นแล้วก็นับว่าเป็นทางเลือกอีกทางในการหาเงิน วันนี้เราเสนอวิธีเล่นหุ้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกเราทุกคน หากใครมีหัวทางนี้ก็เชิญลองทางเลือกนี้อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีและสนุกในการพิสูจน์ตัวเอง และก็ยังอิสระอีกด้วย การเล่นหุ้นนั้นสำคัญต้องเป็นคนมีหัวทางธุรกิจร่วมด้วย และมีดวงในการเล่นหุ้น เพราะความแปรผันของหุ้นนั้นก็นับว่ายังเป็นความเสี่ยงที่มิควรมองข้ามอยู่ดี หากเป็นคนใจถึง ตาถึง ก็เริ่มสตาร์ทได้เลย เพราะในสังคมบุคคลที่ประสบความสำเร็จจากการเล่นหุ้นนั้น ได้ผลดีที่คิดไม่ถึงเลยทีเดียว




ตลาดหลักทรัพย์คืออะไร

"ตลาดหลักทรัพย์" คือสถานที่รวบรวมข้อมูล และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ ระหว่างผู้ขอรับการลงทุน (คือบริษัทต่างๆที่เป็นบริษัทจำกัดมหาชน) และผู้ลงทุน (ก็คือนักลงทุนทั่วๆไปหรือนักลงทุนอื่นๆ) หน้าที่หลักคือเป็นศูนย์กลางการให้ข้อมูล การกระจ่ายหรือรวบรวมข่าวสารและสาระสำคัญ และเป็นตัวแทนกลางระหว่างบริษัท กับผู้ลงทุน แต่ทั้งนี้ผู้ลงทุนแต่ละคน ไม่สามารถซื้อขายหุ้น ผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้โดยตรง นักลงทุนทุกคนต้องมีโบรคเกอร์ (นายหน้าค้าหลักทรัพย์) จึงจะซื้อขายได้
โบรคเกอร์ คืออะไร

นายหน้าค้าหลักทรัพย์ (โบรคเกอร์) ซึ่งโบรคเกอร์ก็คือบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆที่จะให้บริการด้านการให้ข้อมูล และการส่งคำสั่งซื้อขาย นักลงทุนทุกคนจะต้องมีบัญชีที่เปิดไว้กับโบรคเกอร์ (ภาษานักลงทุนจะเรียกว่า "เปิดพอร์ท")

หลังจากทำการขอเปิดพอร์ทแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่การตลาดเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนบุคคลในการดูแลซื้อขายหลักทรัพย์ ของเรา (เรียกว่า มาร์เกตติ้ง) หากทำการซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด โดยการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโทรศัพท์ มาร์เกตติ้งก็จะเป็นผู้จัดการในส่วนคำสั่งซื้อขาย หรือดูแล แจ้งข้อมูลหุ้นในพอร์ทของเราเป็นต้น หรือหากเราเป็นประเภททำรายการซื้อขายด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เนต เราก็จะสามารถส่งคำสั่งได้เองโดยไม่ต้องผ่านมาร์เกตติ้งได้เช่นกัน แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน บางบริษัทหลักทรัพย์สำหรับลูกค้าเทรดผ่านเนตด้วยตนเอง บริษัทอาจจะมีหน่วยเฉพาะที่ดูแลทางด้านการซื้อขายผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์โดย ตรง ซึ่งบางครั้งระบบคอมพิวเตอร์ของคุณขัดข้อง ต้องการซื้อขายหุ้นโดยผ่านมาร์เกตติ้ง ก็สามารถทำได้โดยโทรไปที่เบอร์ส่วนกลางของบริษัทหลักทรัพย์ได้เพื่อขอส่งคำ สั่งซื้อขาย

แต่ละคนก็จะสงสัยว่าจะเลือกใช้บริการกับบริษัทหลัก ทรัพย์ไหนดี ซึ่งมีมากมายนับสิบบริษัท แต่ถ้าให้พูดถึงความเหมาะสมที่สุดว่าควรจะเลือกบริษัทไหน ผมขอแนะนำให้เลือกบริษัทที่คุณสะดวกใช้บริการมากที่สุด

ในการใช้ บริการซื้อขายหลักทรัพย์ บางคนก็กลัวบริษัทหลักทรัพย์จะล้ม โดยเฉพาะบางบริษัทไม่เคยจะได้ยิน แล้วก็เป็นบริษัทเล็กๆ คำตอบคือคุณไม่ต้องกลัว เพราะมีการคุ้มครองเงินฝาก โดยสาระของ พรบ.คุ้มครองฯ โดยช่วง 11 ส.ค. 53 ? 10 ส.ค. 54 คุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 50 ล้านบาท, 11 ส.ค. 54 ? 10 ส.ค. 55 คุ้มครองไม่เกิน 10 ล้านบาท และ 11 ส.ค. 55 เป็นต้นไป คุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวนเงินที่คุ้มครองคือเงินสดที่อยู่ในพอร์ทหลักทรัพย์ และสามารถได้รับดอกเบี้ยเช่นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป แต่ถ้าสมมติว่าในพอร์ทคุณมีเงินเหลืออยู่นิดหน่อยแค่ไม่กี่แสนบาท แต่หุ้นของคุณมีมูลค่าสูงเป็นพันๆล้าน คุณก็ไม่ต้องกลัวใดๆทั้งสิ้น เพราะถึงแม้บริษัทหลักทรัพย์นั้นจะล้ม ใบหุ้นหรือเอกสารสำคัญในการเป็นผู้ถือหุ้น จะยังคงเป็นของเราต่อไป ... ความเป็นเจ้าของหลักทรัพย์นั้น เริ่มจากคุณคีย์ซื้อขายและจับคู่สำเร็จเรียบร้อย คุณก็ไม่ต้องกังวลใดๆ เพราะนับแต่วินาทีนั้น หุ้นคือสมบัติของคุณ บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่ในการเก็บรักษาเฉยๆ ดังนั้นเลือกใช้บริการได้ตามความพอใจ สะดวกที่ไหนที่สุด เลือกใช้ที่นั่น สามารถสอบถามวิธีการเปิดพอร์ทได้จากธนาคารทั่วๆไปก็ได้ โดยมากแล้วธนาคารส่วนใหญ่จะมีบริษัทในเครือคอยให้บริการด้านการซื้อขายหลัก ทรัพย์โดยเฉพาะ
ค่าธรรมเนียม

ผมขอแนะนำการซื้อขายผ่านทาง อินเตอร์เนตด้วยตนเองก็แล้วกัน เพราะการซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดจะเสียค่าธรรมเนียมสูงกว่าการซื้อขาย ด้วยตนเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการประหยัดเราควรใช้แบบการซื้อขายด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เนต ซึ่งรวดเร็ว ทันสมัย สะดวกสบาย และประหยัด

ค่าธรรมเนียมแต่ละ บริษัทนายหน้าก็อาจจะมีความแตกต่างกัน แต่โดยพื้นฐานแล้วจะคิดในอัตราการเทรดด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เนตในอัตรา 0.15% ของยอดซื้อ/ขาย +Vat 7% สำหรับบริษัทหลักทรัพย์บางแห่งคิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 50 บาทต่อวัน หมายความว่าอย่างไร? ก็คือหากในวันนั้นคุณเทรดหุ้น แต่เสียค่าธรรมเนียมนิดหน่อยไม่เกิน 50 บาท ทางโบรคจะคิดคุณ 50 บาทในวันนั้นทันที (53.50 บาท อย่าลืม +Vat ทุกครั้งสำหรับค่าธรรมเนียม) หากคุณเทรดแล้วมีค่าธรรมเนียมเกินกว่า 50 บาท คุณต้องถูกคิดค่าธรรมเนียมตามอัตราจริงที่คุณเทรด สมมติว่า

10.00 น. คุณต้องการซื้อหุ้น ABC 1 บาท/หุ้น จำนวน 10,000 หุ้น
= คุณต้องเสีย 10,000 ค่าหุ้น + ค่าธรรมเนียม 16.05 บาท = 10,016.05
หากในวันนี้คุณมีแค่รายการนี้รายการเดียว คุณต้องเสียค่าธรรมเนียม 53.50 บาท เป็นขั้นต่ำต่อวัน

10.30 น. ราคาหุ้น ABC ขึ้นมาอยู่ที่ 2 บาท/หุ้น คุณต้องการขายทั้งหมดจำนวน 10,000 หุ้น
= คุณจะได้รับเงิน 19,967.90 บาท เพราะได้จากค่าหุ้น 20,000 แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 32.10 บาท
หากในวันนี้คุณมีรายการตอน 10.00 และ 10.30 คุณจะเสียค่าธรรมเนียม 32.10+16.05 = 48.15 บาท
แต่โบรคก็ยังจะคิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำคุณที่ 53.50 บาทอยู่ดี เพราะเป็นขั้นต่ำต่อวันที่โบรคจะคิด

11.30 น. ราคาหุ้น ABC ร่วงลงมาที่ 1 บาท/หุ้น เหมือนตอน 10 โมงเช้า คุณกลับไปซื้อ 10,000 หุ้น
= คุณต้องเสีย 10,000 ค่าหุ้น + ค่าธรรมเนียม 16.05 บาท = 10,016.05
หากในวันนี้คุณมีรายการทั้งหมด 3 รายการนี้ คุณจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 16.05+32.10+16.05
จึงมีค่าธรรมเนียมทั้งวันนี้อยู่ที่ 64.20 บาท ทางบริษัทหลักทรัพย์จะคิดคุณตามจริงคือ 64.20 บาท
*** หมายเหตุ ***
- หากวันไหนคุณไม่มีการเทรด คุณแค่นั่งดูหุ้นคุณเฉยๆ แต่ไม่ได้ทำรายการอะไร คุณไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น เพราะค่าธรรมเนียมจะคิดเมื่อคุณทำรายการ

- หากวันไหนคุณส่งคำสั่งซื้อขาย แต่คำสั่งซื้อขายไม่ถูกจับคู่ (รายการซื้อขายไม่สำเร็จ) เช่นคุณตั้งราคาขายสูง แต่ราคาหุ้นไม่ขึ้น หรือขึ้นแต่ไม่ถึง และรายการของคุณตลอดทั้งวันนั้นไม่ถูกทำรายการ ก็ไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆเช่นกัน

- การคิดเงินค่าธรรมเนียมใดๆจะเกิดขึ้นทันทีที่คุณมีการซื้อหรือขาย โดยมีการจับคู่การขายของคุณสำเร็จ แม้แต่สำเร็จแค่ 1 หุ้น คุณก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ถ้าไม่สำเร็จ คุณก็ไม่เสียอะไรเลย
ต้องมีใบหุ้นหรือไม่

สำหรับการซื้อขายหุ้น ยุคใหม่ คุณไม่จำเป็นต้องมีใบหุ้นหรือออกใบหุ้นให้ยุ่งยาก ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาที คุณก็จะสามารถซื้อขายหุ้นของบริษัทที่คุณต้องการ มีส่วนร่วมในกิจการของบริษัทนั้น

หากคุณมีบัญชีซื้อขายกับบริษัทหลัก ทรัพย์ และคุณต้องการซื้อหุ้นการบินไทย คุณเพียงแค่ระบุหุ้นที่คุณต้องการซื้อว่า "THAI" (เป็นรหัสชื่อย่อของหุ้น ของบริษัทการบินไทย) เมื่อคุณส่งคำสั่งซื้อขายและการซื้อขายสำเร็จ ก็เปรียบเสมือนคุณมีใบหุ้นไว้ครอบครองเช่นกัน เพียงแต่ไม่มีใบหุ้นกระดาษมาให้รกบ้านหรือไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สิน เพราะถูกบันทึกโดยระบบคอมพิวเตอร์ไว้ที่บริษัทหลักทรัพย์ โดยความเป็นผู้ถือหุ้น การได้รับเงินปันผล การเข้าประชุม หรือการยกมือเพื่อสนับสนุนการโหวตมติต่างๆของผู้ถือหุ้น คุณจะได้รับสิทธิ และศักดิ์ศรีเท่ากับการถือหุ้นโดยมีใบหุ้นทุกประการ

พูดง่ายๆก็คือ คุณก็เป็นผู้ถือหุ้นเหมือนปกติทั่วไป แต่แค่ไม่มีใบหุ้นเป็นกระดาษเท่านั้นเอง เพราะหุ้นคุณอยู่ในพอร์ทการลงทุน ของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของคุณเรียบร้อยแล้ว หรือหากคุณเริ่มเบื่อเปลี่ยนใจอยากได้ใบหุ้น คุณสามารถติดต่อมาร์เกตติ้งผู้ให้บริการคุณ ขอแปลงสภาพหุ้นจากในพอร์ทออกมาเป็นใบหุ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีค่าธรรมเนียมในการดำเนินเอกสาร

หลายๆคนถามว่ามันจะปลอดภัย หรือไม่ จะมีคนแอบลักลอบเอาไปได้หรือเปล่า คำถามนี้มีคนถามผมมากมาย ในฐานะที่ผมทำงานเกี่ยวกับทางด้านอิเลคทรอนิกส์และธุรกิจคอมพิวเตอร์ ผมไม่อาจยืนยันได้ว่ามันเป็นความปลอดภัยที่เต็ม 100% แต่ด้วยระบบความปลอดภัยและการป้องกันที่แน่นหนาหลายชั้น ผมมั่นใจว่าการกระทำใดๆที่ทำผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์อันเป็นการประพฤติโดยมิ ชอบ จะสามารถตรวจสอบร่องรอยและต้นตอ ได้ง่ายกว่าการถูกโจรกรรมด้วยใบหุ้นแบบธรรมดาแน่นอน

เมื่อคุณส่งคำ สั่งซื้อขาย คำสั่งของคุณจะผ่านไปที่เซอร์เวอร์โดยตรงของ settrade ทันที และมีการเก็บและบันทึกข้อมูลส่งผ่านไปที่บริษัทหลักทรัพย์ที่คุณใช้บริการ ดังนั้นคุณจึงสามารถซื้อขายหุ้นได้แบบรายวินาทีต่อวินาที กับคนทั่วๆไปที่เป็นนักลงทุนรายย่อยอีกนับแสนคน และนักลงทุนสถาบันอีกนับสิบแห่ง ได้แบบเรียลไทม์ วินาทีต่อวินาที การสร้างระบบความปลอดภัยของระบบการซื้อขายหุ้นทำด้วยระบบของซุปเปอร์ คอมพิวเตอร์ที่มีการป้องกันและตรวจสอบความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ใครก็ตามที่ไม่ใช่คุณ ไม่สามารถเข้ามายุ่งกับหุ้นของคุณได้ (ยกเว้นคุณมีคำสั่งซื้อขายผ่านมาร์เกตติ้ง ซึ่งมีการบันทึกข้อความการสนทนาในโทรศัพท์อยู่แล้ว) การลักลอบลบหุ้น แกล้ง ยักยอก ทำลายหรือกระทำการใดๆให้คุณเกิดความสูญเสีย ผ่านระบบเครือข่ายหรืออินเตอร์เนต เข้ามาในระบบที่ทันสมัยมากเกือบที่สุดในประเทศไทย ผมมั่นใจว่าการกระทำดังกล่าวนั้นจะถูกดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญและปฏิบัติการคุ้ม ครองอย่างเร่งด่วน คุณไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย เพราะมีระบบป้องกันแน่นหนาทั้งจากฝั่งโบรคเกอร์ และจากฝั่งตลาดหลักทรัพย์ แต่ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจที่สุด การซื้อขายของคุณ ควรจะทำข้อมูลการซื้อขายเก็บเอาไว้โดยเฉพาะ และหากไม่มั่นใจ หรือพบความผิดปกติ คุณก็สามารถแจ้งขอตรวจสอบได้
จะลงทุนแบบไหนดี

นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักด้วยกัน โดยส่วนใหญ่เป็นนักเก็งกำไร เช่นซื้อมาขายไป ซื้อมาถูกขายตอนแพง ส่วนนักลงทุนอีกประเภทค่อนข้างมีน้อย คือเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลระยะยาวจริงๆ โดยเฉพาะหุ้นปันผลดีๆ คุณต้องรู้จักให้ได้ว่าคุณเป็นนักลงทุนแบบไหน ถ้าหากคุณพร้อมแล้วคุณก็หาหุ้นที่เหมาะสมกับคุณได้เลย ส่วนจะเป็นเคล็ดวิชาแบบไหน แบบใคร ลองหาหนังสือหรือเรื่องราวจากคลังกระทู้เก่ามาอ่านก็ได้ รับรองว่าคนเล่นหุ้นสำเร็จ มีเยอะกว่าที่คิด ลองอ่านเพื่อหาแนวคิดนะ ไม่ใช่ลอกการบ้าน !!!
อักษรย่อของหุ้น

เป็นอักษรที่แทนแต่ละบริษัทในการ ซื้อขายหุ้น แต่ละบริษัทจะมีรหัสย่อของบริษัทตนเองซึ่งส่วนใหญ่จะใช้อักษรเป็นชุดที่ เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆ เช่น PTT คือ ปตท., THAI คือ การบินไทย ฯลฯ คุณควรศึกษาหุ้นแต่ละตัวว่าใช้อักษรย่ออย่างไร เพราะแต่ละบริษัทจะมีความแตกต่างกัน ในบางบริษัทอาจจะมีความสับสนในเรื่องชุดตัวอักษร คุณต้องระวังเป็นอย่างมากด้วยเช่นบริษัท IEC และ EIC เป็นคนละบริษัทกัน ในการซื้อขายทางอินเตอร์เนตคุณควรระมัดระวังการซื้อขายให้มาก เพราะบางครั้งคุณอาจจะเผลอด้วยความไม่ตั้งใจ อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการซื้อขายได้
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์

SET Index คือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นดัชนีกระดานหลักของตลาดหุ้นไทย นักลงทุนส่วนใหญ่เน้นดูกระดานนี้เป็นหลักเนื่องจากเป็นกระดานหลักซึ่งสะท้อน ภาพรวมของตลาดได้ดีที่สุด โดยมีหน่วยวัดดัชนีเป็น "จุด" โดยดัชนี SET Index จะสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ทั้งหมดทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ โดยคำนวณจากหุ้นสามัญทุกตัว ยกเว้นหุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เกิน 1 ปี (หยุดการซื้อขาย) รวมถึงตราสารชนิดอื่นๆที่ไม่ได้รวมเข้าไปเพื่อคำนวณ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ใช้วิธีการคำนวณโดยวิธีถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตามราคา ตลาด โดยการเปรียบเทียบมูลค่าตลาดในวันปัจจุบันของหลักทรัพย์ กับมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ในวันฐานของหลักทรัพย์ คือวันที่ 30 เม.ย. 2518 วันทำการวันแรกของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งดัชนีมีค่าเริ่มต้นที่ 100 จุด นับจากวันนี้จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 54 ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการมาแล้วกว่า 36 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน ที่หนักที่สุดคงจะหนีไม่พ้นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 (Tom Yam Kung Crisis)

นอก จากนี้ยังมีดัชนี SET50 และ SET100 ซึ่งเป็นดัชนีพิเศษที่ตลาดหลักทรัพย์จัดขึ้น โดยจะคัดเลือกจากหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงและมีพื้นฐานที่ดีเข้ามาอยู่ในกลุ่ม ดัชนี ซึ่งจะคัดเลือกมา 50 หรือ 100 ตัว ตามดัชนีที่กำหนด เช่นดัชนี SET50 ก็เป็นหุ้นกลุ่มที่ตลาดหลักทรัพย์คัดเลือกหุ้นมาไว้ในดัชนีนี้จำนวน 50 ตัว ทั้งนี้ดัชนี SET50 / SET100 จะมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงทุกๆ 6 เดือน ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าหุ้นตัวนั้นจะอยู่ในกลุ่มนี้ต่อไป หรือถูกถอดออกตามหลักการพิจารณาตามกฎของตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ ยังมีดัชนี MAI โดย ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สองของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2542 และเปิดทำการซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544 มีจุดประสงค์การทำงานโดยทั่วไป เหมือนกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตลาด mai จะเน้นไปที่กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และกิจการเกี่ยวกับนวัตกรรม โดยได้ผ่อนผันหลักเกณฑ์ต่างๆลงเช่น ทุนชำระแล้วขั้นต่ำของตลาดหลักทรัพย์กระดานหลัก (SET) คือ 200 ล้านบาท ในขณะที่ขั้นต่ำของตลาดใหม่ลดลงเป็น 40 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้มีหนทาง ในการระดมทุน ทั้งนี้การลงทุนในกลุ่มของหุ้นในกระดาน MAI สามารถซื้อขายได้ทั่วไปเช่นเดียวกับหุ้นตามปกติผ่านทางโปรแกรม Streaming ของผู้ให้บริการ

ดัชนี FTSE เป็นความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์กับ FTSE Group ที่ทำการคำนวณให้เป็นไปตามหลักสากล และสอดคล้องในการลงทุนของผู้ลงทุนในตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งมีการกำหนดกลุ่มหลักทรัพย์เอาไว้อย่างชัดเจน โดยทั่วไปนักลงทุนภายในประเทศไม่ได้สนใจดัชนี FTSE เท่าใดนักเนื่องจากกำหนดรูปแบบการคำนวณและแบ่งแยกโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งดัชนีนี้โดยมากแล้วจะใช้เป็นเครื่องมือเปรียบเทียบและวิเคราะห์หลัก ทรัพย์ และสามารถนำไปอ้างอิงกับการออกกองทุนหรือตราสารที่อ้างอิงกับดัชนีได้
ปริมาณและมูลค่าการซื้อขาย

ปริมาณ และมูลค่าการซื้อขายเป็นสิ่งสะท้อนความคึกคักของหุ้นตัวนั้นว่ามีความนิยม มากน้อยเพียงใด โดยส่วนใหญ่จะนิยมดูจากมูลค่าการซื้อขายเป็นการสรุป หากดูที่ปริมาณการซื้อขายจะดูจากจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขาย การดูมูลค่าการซื้อขาย จะสามารถสะท้อนได้ดีที่สุดว่าในช่วงนั้นหรือวันนั้น หุ้นตัวนั้นมีความคึกคักและน่าสนใจสำหรับนักลงทุนมากน้อยเพียงใด หากมีการซื้อขายกันนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ซื้อขายอาจจะติดต่อกับบริษัททำการขอซื้อแยกต่างหากเป็นการซื้อขายแบบ ตัวต่อตัวหรือเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าการซื้อขายจะเข้ามาแสดงผลด้วยเช่นกัน แต่ไม่มีผลต่อดัชนีตลาดหุ้น
ดัชนีตลาดต่างประเทศ

ดาวโจนส์ (DJIA - Dow Jones Industrial Average) เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของโลก และเป็นมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ที่ทำการของตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ถนนวอลล์ (Wall Street) ในรัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ส่วนแนสแดค (NASDAQ) ตลาดหลักทรัพย์รองซึ่งเป็นต้นแบบของตลาด mai เดิมทีเป็นตลาดรองที่รองรับธุรกิจขนาดเล็ก แต่ในปัจจุบันบริษัทใหญ่ๆที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเทคโนโลยีที่ได้เติบโตมา กับดัชนีนี้ ก็ยังคงอยู่ในกระดานแนสแดคตามเดิม ซึ่งในปัจจุบันเป็นกลุ่มตลาดเทคโนโลยีโดยเฉพาะ บริษัทที่เติบโตมาจากความเป็นบริษัทเล็กๆที่เข้ามาระดมทุนในกระดานแนสแด คเช่น ไมโครซอฟท์, อินเทล และแอปเปิล

ญี่ปุ่น - ตลาดหลักทรัพย์ NIKKEI (NIKKEI)
เกาหลี - ตลาดหลักทรัพย์ KOSPI (KS11)
ไต้หวัน - ตลาดหลักทรัพย์ Taiwan Weighted (TWII)
เซี่ยงไฮ้ - ตลาดหลักทรัพย์ Shanghai Composite (SS)
ฮ่องกง - ตลาดหลักทรัพย์ Hang Seng (HSI)
สิงคโปร - ตลาดหลักทรัพย์ Straits Time (STI)
อินเดีย - ตลาดหลักทรัพย์ SENSEX (BSESN)
ฝรั่งเศส - ตลาดหลักทรัพย์ CAC40 (FCHI)
เยอรมัน - ตลาดหลักทรัพย์ DAX (GDAXI)
อังกฤษ - ตลาดหลักทรัพย์ FTSE (FTSE)
ฯลฯ

ใน อนาคตอันใกล้จะมีการเชื่อมโยงระบบตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ซึ่งในขั้นเริ่มแรกประกอบด้วย 3 ตลาดคือ มาเลเซีย สิงคโปร และไทย คาดว่าน่าจะได้เริ่มใช้จริงในราวปี 2555 ส่วนรายละเอียด ข้อกำหนดและเงื่อนไข ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจน ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
นักลงทุนต่างชาติ

นักลงทุนต่างชาติ มีทั้งเป็นนักลงทุนรายย่อย รายใหญ่ และกองทุนระหว่างประเทศ โดยนักลงทุนต่างชาติโดยมากที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะเป็นสองกลุ่มหลัก คือกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ซึ่งมีกำลังการซื้อขายสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ส่วนนักลงทุนต่างประเทศอีกกลุ่มที่เป็นรายย่อย ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเอเชียเช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เน้นจะเข้ามาเป็นบางช่วงเวลา ซึ่งจะต้องดูอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเป็นหลัก และรวมถึงค่าเงินสกุลอื่นๆเทียบกับค่าเงินไทยด้วย นอกจากนั้นดูจากพื้นฐานและเศรษฐกิจโดยภาพรวม โดยมากแล้วกองทุนระหว่างประเทศที่เข้ามาลงทุน จะเน้นลงทุนในภาพใหญ่ๆ ระยะรายไตรมาส ไปจนถึงรายปี มักจะไม่ทำการซื้อขายบ่อยนัก การซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติโดยมากถ้าซื้อก็จะซื้อหนัก แน่นอนถ้าขายก็จะขายหนักเช่นกัน ปริมาณเม็ดเงินของต่างชาติจะเน้นเล่นระยะสั้น-กลางเท่านั้น อาจมีทิศทางกำหนดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้บางครั้ง

หุ้นส่วนใหญ่ที่นัก ลงทุนต่างประเทศเน้นลงทุนคือหุ้นในกลุ่ม SET50 ซึ่งจะเป็นหุ้นระดับหลักที่กำหนดระดับของดัชนีได้ง่ายกว่าพวกหุ้นเล็ก และยังมีความเสี่ยงน้อยเพราะจะเป็นไปตามข่าวและสภาพตลาด หรือแนวโน้มของตลาดหุ้น ซึ่งดูในส่วนของพื้นฐานและผลประกอบการเป็นหลัก จะค่อนข้างแตกต่างจากหุ้นตัวเล็กซึ่งอาจมีการควบคุมโดยกองทุนหรือเจ้ามือได้ ง่าย ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติจึงจะป้วนเปี้ยนอยู่กับหุ้นแค่สองกลุ่มหลักๆคือ กลุ่มพลังงานและกลุ่มสถาบันการเงิน
Blue Chip

หุ้นบลูชิพ เป็นชื่อเรียกสำหรับหุ้นที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง ซึ่งทิศทางของหุ้นโดยส่วนมากจะเป็นไปตามสภาพแนวโน้มของตลาด ข่าว หรืองบการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเหตุการณ์และความสำคัญต่างๆ หุ้นบลูชิพจึงเป็นหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท และเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งในประเทศ ต่างประเทศ และนักลงทุนสถาบัน (กองทุน) ต่างๆ เพราะเป็นหุ้นที่สามารถเห็นอนาคตได้ง่าย มีพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีหลักประกันรองรับบริษัทอยู่หลายๆชั้น แม้ว่าในแง่ของการเติบโตของบริษัทจะเติบโตได้น้อยแล้ว แต่ผลประกอบการที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นเสมือนแรงดึงดูดสำคัญสำหรับนักลงทุน
คำว่าบลูชิพ มาจากชื่อของชิพในบ่อนคาสิโน ซึ่งในสมัยก่อนชิพสีน้ำเงินจะเป็นชิพที่มีมูลค่ามากที่สุด ดังนั้นในสมัยก่อนจึงมีการเรียกหุ้นที่มีราคาแพง หรือเป็นหุ้นที่ค่าทางการตลาดสูงว่าหุ้นบลูชิพ แต่ในสมัยนี้ชิพที่ใช้ในบ่อนคาสิโนมีหลากหลายสีและหลายรูปแบบไปแล้ว แต่เราก็ยังคงเรียกหุ้นมูลค่าสูงว่าบลูชิพอยู่ดี ทั้งนี้คำอื่นๆในความหมายเดียวกับบลูชิพก็คือ หุ้น Big Cap. หรือ หุ้นที่มี Market Cap. สูง ทั้งหมดคือชื่อเรียกเดียวกัน ความหมายเหมือนกัน เพียงแต่เรียกกันตามความถนัดของแต่ละคน แต่ละองค์กรเพื่อความเข้าใจง่ายเท่านั้นเอง ทั้งนี้นักลงทุนหลายๆท่านก็จะมีความเห็นเกี่ยวกับคำว่า ?บลูชิพ? แตกต่างกันไป บ้างก็ว่าเฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET50, บ้างก็ว่าเฉพาะหุ้นราคาสูงๆ, บ้างก็ว่าเฉพาะหุ้นที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงๆ ซึ่งแล้วแต่ความรู้สึกของแต่ละคนว่าต้องการให้คำว่า ?บลูชิพ? สื่อไปในลักษณะใด ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด
กลุ่มหลักทรัพย์

กลุ่มของหุ้นเราแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ๆ ในแต่ละกลุ่มใหญ่จะมีกลุ่มย่อยดังต่อไปนี้
1. => กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร (AGRO) มี 2 กลุ่มย่อยคือ
- การเกษตร (AGRI)
- อาหาร (FOOD)
2. => กลุ่มโภคภัณฑ์ (CONSUMP) มี 3 กลุ่มย่อยคือ
- แฟชั่น (FASHION)
- ของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน (HOME)
- ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ (PERSON)
3. => กลุ่มสถาบันการเงิน (FINANCIAL) มี 3 กลุ่มย่อยคือ
- ธนาคาร (BANK)
- บริษัทหลักทรัพย์และเงินทุน (FIN)
- ประกันภัย (INSUR)
4. => กลุ่มอุตสาหกรรม (INDUS) มี 5 กลุ่มย่อยคือ
- ยานยนต์ (AUTO)
- วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร (IMM)
- กระดาษและวัสดุการพิมพ์ (PAPER)
- ปิโตรเคมี (PETRO)
- บรรจุภัณฑ์ (PKG)
5. => กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) มี 3 กลุ่มย่อยคือ
- วัสดุก่อสร้าง (CONMAT)
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PFUND)
- พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)
6. => กลุ่มทรัพยากร (RESOURC) มี 2 กลุ่มย่อยคือ
- พลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG)
- เหมืองแร่ (MINE)
7. => กลุ่มการบริการ (SERVICE) มี 6 กลุ่มย่อยคือ
- พาณิชย์ (COMM)
- การแพทย์ (HELTH)
- สื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA)
- บริการเฉพาะกิจ (PROF)
- ท่องเที่ยว (TOURISM)
- ขนส่งและโลจิสติก (TRANS)
8. => กลุ่มเทคโนโลยี (TECH) มี 2 กลุ่มย่อยคือ
- ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ (ETRON)
- เทคโนโลยีและการสื่อสาร (ICT)
Ceiling/Floor

คือการกำหนดเพดานและพื้นราคา ของหุ้นแต่ละตัว ซึ่งจะอ้างอิงกับราคาปิดของเมื่อวาน โดยจะกำหนดเพดานและพื้นของหุ้นตัวนั้นในวันทำการวันต่อไปสามารถขึ้นลงได้ไม่ เกิน 30% ของราคาหุ้นที่ปิดเมื่อวาน ดังนั้นหากในวันนั้นมีแรงเทขายมหาศาลทำให้ราคาหุ้นตกลง อย่างมากที่สุดคือตกลงประมาณ 30% เพราะจะติดที่ราคา Floor หากถ้ามีข่าวดีหนุนทำให้ราคาขึ้นก็จะขึ้นได้ไม่เกิน 30% เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ยกเว้นหลักทรัพย์ประเภท Derivative Warrant (DW) จะไม่มีการกำหนด Ceiling/Floor และหุ้น IPO ที่เข้าทำการซื้อขายวันแรกจะมี Ceiling/Floor ไม่เกิน 200% เฉพาะการเทรดวันแรกเท่านั้น
Open/Close

ตลาดหลักทรัพย์จะมีเวลาเปิดทำการ ชัดเจน วันทำการปกติคือวันทำการที่สถาบันการเงินและธนาคารเปิด ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลของการเปิดปิดตลาดหลักทรัพย์ได้จากเว็บไซต์ของธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ทั้งนี้หากวันหยุดพิเศษต่างๆที่อาจจะเกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถเปิดทำการได้ หรือเปิดทำการครึ่งวัน ตลาดหลักทรัพย์จะมีประกาศที่หน้าเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ (www.set.or.th) ทั้งนี้หากในช่วงวันและเวลาตามปกติ ตลาดหลักทรัพย์จะมีช่วงเวลาเปิดทำการซื้อขายดังต่อไปนี้

09.30-10.00 ช่วง Pre-Open I
10.00-12.30 ช่วง Open I
12.30-14.00 ช่วง Break/Intermission
14.00-14.30 ช่วง Pre-Open II
14.30-16.30 ช่วง Open II
16.30-17.00 ช่วง Pre-Close
17.00-09.30 ช่วง Close

Pre-Open/Pre-Close คือช่วงเวลาในการทำการสุ่มราคาเปิดของหุ้นก่อนตลาดหลักทรัพย์เปิดให้ซื้อขาย ซึ่งจะทำการจับคู่รายการซื้อขายตามปริมาณและราคาที่สัมพันธ์กัน เช่นเดียวกันกับ Pre-Close เป็นการสุ่มราคาปิดเช่นเดียวกัน หากไม่มีรายการซื้อขายในช่วงนี้ก็จะใช้ราคาล่าสุดปิดแทน ทั้งนี้โปรดระมัดระวังการซื้อขายในช่วงเวลา ATO/ATC ซึ่งอาจมีการสุ่มราคาปิดหรือเปิดแกว่งตัวสูงได้ และในส่วนช่วง Break/Intermission จะไม่มีการซื้อขาย ตลาดหลักทรัพย์หยุดทำการซื้อขายระหว่างวัน
ETF

ETF ก็คือกองทุนที่มีลักษณะของความเป็นหุ้นผสมผสานไปด้วยในตัว ถ้าในกรณีกองทุนรวมตาม บลจ.ต่างๆที่ออกมา จะเป็นลักษณะที่เราจะต้องซื้อขายหน่วยลงทุน ผ่านกองทุนโดยตรง โดยที่จะเป็นไปตามราคาที่ทางกองทุนนั้นกำหนดตามสภาพตลาด กำไร หรือขาดทุนในเวลานั้น พูดง่ายๆคือถ้าคุณจะซื้อขายต้องรอให้ถึงช่วงเวลา และซื้อกับ บลจ.ของกองทุนรวมเท่านั้น

แต่ถ้าเป็น ETF จะออกมาเป็นเสมือนหุ้นตัวหนึ่ง ที่ซื้อขายทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นผู้สนใจลงทุนสามารถซื้อขายได้ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์โดยตรง ทั้งนี้ก็จะมีการได้เงินปันผลของกองทุน เช่นเดียวกับหุ้นสามัญทั่วไป และยังมีโอกาสที่จะได้ส่วนต่างทางราคาของหุ้นตัวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน พูดง่ายๆคือคุณสามารถเก็งกำไรได้ หรือถือยาวเพื่อรับปันผลก็ได้ เหมือนเป็นบริษัทที่นำเงินเราไปบริหารลงทุนในกลุ่มของหลักทรัพย์อื่นๆ หรือหลักทรัพย์ต่างประเทศ และจ่ายผลตอบแทนเป็นเงินปันผล หรือส่วนต่างราคา ทั้งนี้ราคาของหน่วยลงทุนตัวนี้จะขึ้นลงตามสภาพตลาดพื้นฐานของกองทุนที่นำไป ลงทุนนั้นๆ



กรณีกองทุน CHINA ซึ่งซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ชื่อ CHINA ตามปกติ มีการซื้อขายปกติเหมือนหุ้นทั่วๆไป แต่ไม่ใช่บริษัทที่ลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นจีน (เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น เป็นหลัก) ดังนั้นแม้ว่าในช่วงนั้นประเทศไทยตลาดหุ้นจะอยู่ในขาลง หรือมีภัยทางการเมือง การก่อการร้าย หรือปฏิวัติ รัฐประหาร เจ้าตัว CHINA ก็จะไม่แกว่งราคาขึ้นลงตามปัจจัยภายในประเทศของไทย เพราะพื้นฐานของ ETF CHINA ลงทุนในประเทศจีน 100% แต่ก็แน่นอนหากจีนในช่วงนั้นตลาดหุ้นตก หรือมีภัยธรรมชาติหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ตลาดหุ้นไทยขึ้น หุ้นตัวนี้ก็จะร่วงลงตามปัจจัยพื้นฐานของจีน ไม่ใช่ของไทย

ETF มีไว้เพื่อบริหารความเสี่ยง หากในช่วงตลาดหุ้นของไทยขาลง จะได้มีการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างประเทศ หรือกลุ่มอื่นๆ ในอนาคต ETF จะมีกองทุนเพิ่มเติมที่มากขึ้นในตลาดต่างประเทศ คาดว่าอาจจะกระจายไปตามตลาดหุ้นต่างๆทั่วโลก และมีกองทุนอื่นๆเช่นน้ำมัน หรือทองคำอีกด้วย ซึ่งอาจต้องรอระยะเวลาในการจัดการในส่วนนี้อีกพอประมาณ จึงจะเริ่มมีมากขึ้น ปัจจุบันยังมีน้อยและไม่แพร่หลาย แต่ในอนาคตคาดว่าจะเป็นหุ้นที่นักลงทุนสนใจที่จะกระจายความเสี่ยงการลงทุน ของตนเองออกไปให้มากยิ่งขึ้น
เครื่องหมายและการขึ้นเครื่องหมาย

การขึ้น เครื่องหมายของหุ้นต่างๆในตลาดหลักทรัพย์ แปลว่าผู้ที่ซื้อหุ้นในวันที่มีเครื่องหมาย จะไม่ได้สิทธิ์ในการกระทำของเครื่องหมายเหล่านั้น เช่น หากหุ้น BANPU ขึ้นเครื่องหมาย XD วันนี้ แปลว่าหากคุณซื้อหุ้นและมีหุ้นก่อนที่ตลาดปิดทำการเมื่อวานนี้ "คุณมีสิทธิ์" ที่จะได้รับเงินปันผล แต่ถ้าหากว่าคุณมาซื้อในวันนี้ ... คุณจะไม่ได้รับเงินปันผลแต่อย่างใด การถือหุ้นแม้เพียงข้ามวันก็สามารถทำให้ได้รับเงินปันผลได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD ราคาหุ้นจะถูกดันขึ้นไปสูงมาก แต่หลังจากนั้นเมื่อถึงวันที่ขึ้นเครื่องหมายแล้ว จะถูกแรงเทขายออกมาเนื่องจากได้รับเงินปันผลแล้ว แต่กรณีนี้ก็ไม่เสมอไป เพราะในบางครั้งวันที่ขึ้นเครื่องหมายแล้ว หุ้นอาจจะดีดตัวสูงขึ้นก็ได้ แล้วแต่ข่าว แนวโน้ม และปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเหล่านั้น อย่างไรก็ดีหากจะตรวจสอบว่าหุ้นตัวไหน จะขึ้นเครื่องหมายอะไรวันไหน โปรดดูได้ที่ www.set.or.th หรือ www.settrade.com หัวข้อปฏิทินหลักทรัพย์

XM (Exclude meetings) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ ไม่มีสิทธิเข้าประชุม ผู้ถือหุ้น
XI (Excluding Interest) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ ไม่ได้สิทธิรับดอกเบี้ย
XD (Excluding Dividend) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล
XR (Excluding Right) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ ไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่
XN (Ex-Capital Return) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้รับสิทธิในการรับเงินคืนจากการลดทุน
XA (Excluding All) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิทุกประเภทที่บริษัทประกาศให้ในคราวนั้น
XW (Excluding Warrant) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ ไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์
XP (Excluding Principal) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ ไม่ได้สิทธิรับเงินต้นที่บริษัทประกาศจ่ายคืนในคราวนั้น
XS (Excluding Short-term Warrant) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ ไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ระยะสั้น
XT (Excluding Transferable Subscription Right) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ ไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
XE (Excluding Exercise) : แสดงการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในการนำตราสารสิทธิไปแปลงสภาพเป็นหุ้นอ้างอิง
Circuit Breaker

มาตรการเซอร์กิตเบรคเกอร์ คือมาตรการพิเศษของตลาดหลักทรัพย์เพื่อจะทำการหยุดพักการซื้อขายเป็นกรณี พิเศษหากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงต่ำกว่า -10% เป็นเวลา 30 นาที เพื่อลดความร้อนแรงหากเกิดภัยพิบัติทำให้ดัชนีหุ้นทั้งตลาดหลักทรัพย์ลดลง ต่ำอย่างรวดเร็วเกินไป

ในอดีตตลาดหลักทรัพย์ไทย เคยใช้มาตรการเซอร์กิตเบรคเกอร์ทั้งหมด 3 ครั้งดังต่อไปนี้

ครั้ง ที่ 1 - 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ตลาดหลักทรัพย์ใช้มาตรการตั้งแต่เวลา 11.26 น. - 11.56 น. เนื่องจากตลาดหุ้นไทย ลดลงมากกว่า -10% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ เวลา 11.26 น. อยู่ที่ 656.49 จุด ลดลง -74.06 (-10.14%) เหตุคือ ธปท.ออกมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อป้องกันเก็งกำไรค่าเงินบาท ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมาก โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ลดลงติดลบกว่า -142.63 จุด (-19.52%) ซึ่งเป็นการลดลงต่ำที่สุดภายในวันเดียวที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหลัก ทรัพย์ ก่อนที่จะปิดตลาดที่ -108.41 จุด (-14.84%)

ครั้งที่ 2 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ตลาดหลักทรัพย์ใช้มาตรการตั้งแต่เวลา 14.35 น. - 15.05 น. เนื่องจากตลาดหุ้นไทย ลดลงมากกว่า -10% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ เวลา 14.35 น. อยู่ที่ 449.91 จุด ลดลง -50.08 จุด (-10.02%) เหตุคือ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์*

ครั้งที่ 3 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ตลาดหลักทรัพย์ใช้มาตรการตั้งแต่เวลา 16.04 น. - 16.34 น. เนื่องจากตลาดหุ้นไทย ลดลงมากกว่า -10% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ เวลา 16.04 น. อยู่ที่ 389.58 จุด ลดลง -43.29 จุด (-10.01%) เหตุคือ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์*

นักลงทุนทุกคนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่เจอ สภาพเหตุการณ์ที่เลวร้ายอย่างนี้ในอนาคต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตลาดหุ้นไทยจะเคยใช้เซอร์กิตเบรคเกอร์เพียง 3 ครั้งที่ผ่านมานี้เท่านั้น

*วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ คือชื่อเรียกโดยทั่วไปของวิกฤติสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา (Subprime Crisis)
เงินแบบไหนควรนำมาลงทุน

การที่คุณจะนำเงินมา ลงทุนในหุ้น ซื้อขายหุ้น ควรจะต้องใช้เงิน "เย็น" คำว่าเงินเย็นหมายถึงว่า เป็นเงินส่วนเกินของเงินเก็บ ซึ่งเป็นเงินที่คุณไม่ได้ใช้แล้ว เก็บสะสมเอาไว้เฉยๆ แต่คุณต้องการหนีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อจึงนำเงินเก็บนั้นมาทำการลงทุน เงินแบบนี้สมควรนำมาลงทุนมากที่สุด

สิ่งที่คุณควรตระหนักคือ เงินที่คุณใช้ลงทุนในหุ้นเป็นเงินที่ต้องยอมรับความเสี่ยงได้ เพราะสถานการณ์ในตลาดหุ้นถือว่าเบาบางมาก และอ่อนไหวต่ออารมณ์ของนักลงทุนสุดๆ ดังนั้นหากมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น หุ้นจะตกอย่างรวดเร็วมาก (เช่นก่อการร้าย, สงคราม, วินาศกรรม ฯลฯ) ดังนั้นคุณต้องยอมรับความเสี่ยงที่เงินคุณอาจสูญได้ ด้วยเหตุนี้เงินเย็นจึงควรหมายถึง เงินเก็บหรือเงินส่วนเกินที่คุณมีไว้นำมาลงทุน และสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ว่า หากเงินจำนวนนี้หายไป หรือขาดทุน ก็จะไม่กระทบกับชีวิตประจำวันใดๆของคุณ

คนส่วนใหญ่ที่ล้มละลายใน ช่วงวิกฤติปี 40 หรือต้มยำกุ้ง ส่วนใหญ่คือคนที่ใช้บัญชีแบบ "มาร์จิ้น" นั่นคือการกู้เงินมาเล่นหุ้น และมีวงเงินสูงมาก ซึ่งเมื่อหุ้นตกแล้วถูกทำการบังคับขายหุ้นโดยโบรคเกอร์ และคุณมีค่าชำระราคาหุ้นไม่เพียงพอ สิ่งที่คุณต้องเจอคือภาระหนี้ปริมาณมหาศาล ดังนั้นในช่วงวิกฤติ 40 จึงมีหลายคนต้องหมดเนื้อหมดตัวแล้วยังไม่พอ จะต้องมีหนี้สินอีกต่างหาก เงินที่คุณใช้ในการลงทุนควรเป็นเงินที่เย็นมากจริงๆ และคุณจะไม่เดือดร้อนหากมีวิกฤติที่น่ากลัว ทรัพย์สินที่เป็นของคุณไม่ควรไปจำนองจำนำหรือทำให้เป็นหนี้สินเพื่อนำมาลง ทุนหวังรวยทางลัด ถ้าคุณคิดอย่างนี้ถือว่าคิดผิด สิ่งเหล่านั้นควรเป็นหลักประกันชีวิตคุณในยามที่คุณลำบาก ไม่ใช่ทรัพย์สินเพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจ หากวันใดวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันพาหุ้นตกแรงๆแล้วหละก็ อย่างมากคุณก็แค่หมดเงินที่คุณนำไปเล่นหุ้นเท่านั้นเอง แต่คุณจะไม่มีหนี้สินตามมา และคุณยังมีบ้านเอาไว้ใช้หลับนอนอาศัยตามปกติ

ดัง นั้นขอแนะนำการลงทุนโดยบัญชีแบบ Cash Balance นั่นก็คือบัญชีเงินสด ซื้อขายเท่าที่เงินเรามี ไม่เดือดร้อน ไม่มีปัญหาตามมา เพราะถือเป็นการซื้อขายด้วยเงินสดของเราแบบเต็มจำนวนนั้นเอง

Let?s Profit Run & Stoploss

Cut loss/Stop loss คือการลดการสูญเสียหากเลือกหุ้นที่วิเคราะห์ผิดทิศทาง หรือหุ้นไม่ได้ไปในทิศทางที่เราตั้งใจไว้ พูดง่ายๆคือซื้อเอาไว้แล้วมันราคาลดลงนั่นเอง หากมันมีแนวโน้มที่เป็นขาลงอย่างชัดเจนสิ่งที่เราต้องทำคือ หยุดความสูญเสียเหล่านั้น ขายขาดทุนออกไปในขณะที่ยังขาดทุนน้อยๆ หากราคามันดิ่งลงไปมากกว่านี้แล้วจะยิ่งทำให้ขาดทุนมากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วเลือกหุ้นหรือศึกษาซื้อ ตัวใหม่แทน โดยมากจะหยุดความเสียหายเมื่อขาดทุนเกินกว่า -5% (หรือตามแต่พอใจ) ซึ่งแต่ละคนมีวิธีการ cutloss แตกต่างกันแล้วแต่เทคนิค ทั้งนี้การ cutloss ตั้งแต่ยังน้อยๆจะยิ่งทำให้เราสามารถสร้างผลกำไรคืนส่วนที่คาดทุนได้ง่าย ขึ้น เช่นหากคุณมีเงิน 100,000 บาท ขาดทุน -5% และคุณขาย คุณก็จะขาดทุน 5,000 บาท คุณก็จะเหลือเงิน 95,000 บาท และหากคุณต้องการสร้างผลกำไรกลับมาคืนเท่าทุน คุณก็จะต้องทำกำไรอีกแค่ 5.26% เท่านั้น แต่ถ้าหากคุณปล่อยให้ขาดทุนไปถึงกว่า -50% เช่นจากเงิน 100,000 บาท ขาดทุน 50% คุณจะเหลือเงิน 50,000 บาท หากคุณต้องการทำกำไรเพื่อคืนทุน คุณต้องทำกำไรให้ได้มากถึง 100% เพื่อให้เงินทุนของคุณกลับคืนมา ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการมีวินัยในตนเอง ไม่ปล่อยให้เงินทุนสูญเสียมากจนเกินไป

Lets Profit Run คือการปล่อยให้ผลกำไรวิ่งต่อไป อย่าได้ไปขายให้ในขณะที่แนวโน้มมันกำลังเป็นขาขึ้น แต่ให้เราขายเมื่อสัญญาณหุ้นเริ่มบ่งบอกว่ากำลังจะมีราคาร่วงลง ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้กำไรมันงอกเงยเพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงจุดที่เป็นยอดดอยหรือกำลังเริ่มไหลลงแล้วให้เราขายออกมารับกำไรทั้ง หมด (Take Profit)
Tender Offer

การทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ คือการเสนอซื้อหุ้นคืนสู่บริษัท พูดง่ายๆคืออำนาจการบริหารอาจจะไม่เป็นแบบมหาชนอีกต่อไป เสมือนการปรับหลักเกณฑ์หุ้นให้เป็นบริษัทจำกัดธรรมดา ที่ไม่ได้จำกัดมหาชน หุ้นที่ทำเทนเดอร์ มีสองแบบ คือ

1. ทำเทนเดอร์ฯ เพื่อต้องการจะถอนตัวออกจากตลาดฯ
2. ทำเทนเดอร์ฯ เพราะถือครองหุ้นข้ามเส้นเกินกว่าร้อยละ 25 ตามกฏของกลต.

หุ้น ในแบบแรกส่วนมากจะเป็นการให้ราคาเสนอซื้อที่สูงกว่าราคามูลค่าหุ้นตามบัญชี ที่ปรับปรุงแล้ว ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นการรับซื้อคืนหุ้นในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดหลักทรัพย์ ส่วนหุ้นในแบบที่สองนั้นมีทั้งที่ให้เกินมูลค่าหุ้นตามบัญชี และให้ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชี โดยตัวที่ให้ต่ำกว่าส่วนใหญ่จะอ้างอิงถึงส่วนลดกระแสเงินสดของหุ้นและจะไม่ ถอนหุ้นออกจากตลาด โดยส่วนมากหุ้นดีๆโดยส่วนใหญ่ที่ทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์เพื่อออกจากตลาด มักจะเป็นหุ้นที่ดีแต่มีสภาพคล่องต่ำ จึงทำให้อัตราการซื้อขายอาจจะมีการกระโดดข้ามช่องราคา หรือมีการเสนอซื้อ/ขาย น้อยจนเกินไป เพราะผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ถือหุ้นไว้ ไม่ปล่อยออกมาขายในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้สภาพคล่องของหุ้นหายไป มีคนจำนวนมากเคยร่ำรวย และจนเพราะหุ้นทำ Tender Offer ดังนั้นหากคุณกำลังลงทุนในหุ้นที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อยราย โดยที่หุ้นส่วนใหญ่อยู่ในมือของบริษัทคู่ค้า คุณควรระวังการลงทุนเนื่องจากความสามารถในการเรียกร้องหรือต่อรองในการทำ Tender Offer จะหายไปทันที
Window Dressing

เป็นสำนวนในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลอย่างไทยตรงตัวก็คือ "ผักชีโรยหน้า" ซึ่งในวงการตลาดหุ้นก็ใช้เหมือนกัน แต่โดยมากจะเรียกเป็นปรากฎการณ์ Window Dressing Effect ซึ่งมักจะเจอในช่วงกลางปี (สิ้นไตรมาสสอง) และปลายปี (สิ้นไตรมาสสี่/สิ้นปี) แต่โดยมากจะเจอในช่วงปลายปีซะมากกว่า โดยการทำ Window Dressing ส่วนมากจะทำโดยกองทุนรวมขนาดใหญ่ หรือกองทุนต่างชาติ ซึ่งในช่วงท้ายปีตอนปิดบัญชี ตัวเลขของหุ้น และราคาหุ้นจะมีราคาที่สูง ทำให้พอร์ทออกมาดูดีมากขึ้น ดังนั้นเปรียบเสมือนการทำผักชีโรยหน้าในช่วงท้ายปี แต่ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าปีไหนจะมีเกิดขึ้นหรือปีไหนจะไม่มี อยู่ที่การคาดการณ์ของกองทุนในผลงานประจำปี ถ้าหากในรอบปีนั้นตลาดมีราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด มักจะไม่มีปรากฎการณ์นี้ หากเป็นช่วงตลาดปรับฐาน มักจะเจอปรากฎการณ์นี้เป็นประจำ
หุ้นขึ้นลงได้อย่างไร

หลายต่อหลายคนก็ สงสัยว่า ทำไมกันนะหุ้นถึงได้ราคาสูงขึ้นได้ หรือราคาร่วงได้ หรือบางครั้งก็ไม่เห็นเปลี่ยนแปลง เพราะอะไร??? ปัจจัยในราคาต่างๆขึ้นอยู่กับคนและข่าว อิทธิพลของข่าวแทบทุกชนิดมีผลต่อราคาหุ้นทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่ระบุเฉพาะเจาะจงในหุ้นหรือกลุ่มบริษัท หรือข่าวโดยรวมที่มีผลต่อปัจจัยพื้นฐาน โดยทั้งสิ้นข่าวเป็นตัวชี้นำว่าบริษัทจะมีผลประกอบการหรือกำไรที่ดีขึ้นหรือ ลดลงมากน้อยแค่ไหน จึงเกิดการเก็งกำไรทำการซื้อขายหุ้นขึ้นมา

เมื่อ เรารู้ถึงอิทธิพลของข่าวแล้ว เราก็จะพบว่าสาเหตุของหุ้นที่มีราคาขึ้นลงได้ก็กำหนดจากนักลงทุนล้วนๆ อย่างในภาพเราเห็นว่าฝั่งซ้าย (Bid) คือฝั่งของราคารับซื้อที่ 57.50 จำนวน 50,000 หุ้น/ 57.25 จำนวน 158,400 หุ้น ฝั่งนี้หากคุณขายหุ้นคุณสามารถกดลงไปและขายได้ทันที หุ้นจะเข้าไปสู่บัญชีของผู้ที่ซื้อหุ้น ส่วนฝั่งขวา (Offer) คือฝั่งของราคาขายที่ 57.75 จำนวน 186,300 หุ้น ถ้าข่าวบางครั้งที่ออกมามีผลต่อกำไรของผู้ถือหุ้น เช่นบริษัทได้งานใหม่ หรือมีผลผลิตที่ได้มากกว่าเป้า หรือยอดขายสินค้ามีกำไรสูง หรือบริษัทอื่นๆขาดแคลนสินค้าแต่บริษัทนี้สามารถผลิตได้ทันต่อความต้องการ ปัจจัยความต้องการหุ้นของบริษัทนี้จะสูงขึ้นทันทีทำให้ทุกคนไล่แย่งซื้อหุ้น ของบริษัทนี้ส่งผลให้ปริมาณความต้องการซื้อ (อุปสงค์) มากกว่าความต้องการขาย (อุปทาน) จึงทำให้ราคาหุ้นถูกดันสูงยิ่งขึ้น

แต่ ในทางกลับกัน หากเกิดเหตุไม่คาดฝันเช่นโรงงานมีปัญหา หรือผู้บริหารลาออก หรือคนงานประท้วงหยุดงานอะไรก็แล้วแต่ มีผลทางด้านลบต่อผลประกอบการ ความต้องการขายก็จะมากกว่าความต้องการซื้อทันที ทำให้ราคาหุ้นอาจจะถูกเทขายออกมาอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ราคาหุ้นตกลงไป หรือหากในช่วงนั้นคุณเป็นคนรวยมาก แต่ต้องการซื้อกิจการของ IVL ตามภาพ คุณก็เคาะซื้อฝั่งขวา (ฝั่ง Offer) ไล่ไปเลยเรื่อยๆตั้งแต่ 57.75 > 58.00 > 58.25 > 58.50 > 58.75 ไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นแนวโน้มสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นสูงมากยิ่งขึ้นได้ ในแต่ละวันความต้องการของหุ้นแต่ละตัวไม่เหมือนกันตามข่าวที่ทำให้เกิด ปัจจัยต่อผลประกอบการของหุ้นในแต่ละตัว

แต่ถ้าหากข่าวบางชนิดเช่น กนง. มีมติให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ จะมีผลโดยรวมต่อกลุ่มธนาคารแทบทุกตัว เพราะธนาคารแทบทุกธนาคารมีการปล่อยให้สินเชื่อ ดังนั้นจึงทำให้ผลประกอบการโดยรวมออกมาดูดีมากขึ้น แต่ถ้าเกิดเหตุเช่นความไม่สงบทางการเมือง มีการประท้วงรุนแรงหรือการชุมนุมที่รุนแรงมากๆจนถึงขั้นนองเลือดหรือสงคราม จะเป็นปัจจัยลบอย่างมากเพราะมีผลต่อหุ้นโดยรวมทุกตัวในตลาดหุ้นเนื่องจาก ความไม่สงบจะทำให้เกิดปัจจัยลบต่างๆตามมาอีกมากมาย ดังนั้นหุ้นขึ้นลง เกิดขึ้นจากข่าวและความเชื่อมั่นของนักลงทุนล้วนๆ

หุ้นปั่นและเจ้ามือ

คุณควรระวังหุ้นปั่นให้จง หนัก ถึงแม้คุณจะเห็นราคาที่วิ่งหวือหวาน่าสนใจ แต่มันอาจแฝงไปด้วยพิษร้ายนานับประการ แม้ในวันนี้คุณจะเข้าไปหาหุ้นปั่นและอาจจะทำกำไรได้ แต่สักวันหนึ่งคุณอาจจะต้องคืนกำไรทั้งหมดและทุนส่วนหนึ่งกลับคืนให้กับเจ้า มือหุ้น ในช่วงเรียกแขกคุณอาจจะเห็นเงินและกำไรหลั่งไหลมา เป็นการเรียกน้ำย่อยให้แขกรู้สึกมัวเมาในวังวนของความสุขที่ได้เงิน แต่ในเวลาที่ยังคงลุ่มหลงมัวเมาไปกับอารมณ์ของเจ้ามือ คุณก็จะถูกเจ้ามือหุ้นปั่น "กินเรียบ"

หุ้นปั่นในสมัยก่อนจะปั่นใน หุ้นของบริษัทที่ไม่มีคนรู้จัก หรือเป็นบริษัทที่เราไม่เคยได้ยินชื่อ หรือคาดการณ์อะไรกันไม่ได้มาก แต่ในสมัยนี้หุ้นปั่นโดยมากจะเป็นหุ้นที่มีราคาต่ำๆ ซึ่งเจ้ามือสามารถทำกำไรได้มากกว่า ดังนั้นหากเจอหุ้นปั่นสิ่งที่คุณควรทำคือ "หลีกเลี่ยง" ไม่ใช่ "เข้าไปพนัน" จำไว้ว่าหุ้นปั่น เจ้ามือเท่านั้นคือคนที่รวย คนที่หวังการเสี่ยงโชคกับหุ้นปั่นมีแต่เท่าทุน กับขาดทุนเท่านั้น น้อยคนที่จะรวยหุ้นปั่นได้ นอกไปจากเจ้ามือซึ่งพวกเขาเป็นผู้คุมราคาหุ้นตัวนั้น




รูปขนาดเล็ก
วิธีเล่นหุ้นตลาดหุ้น.jpg  
อับดุล is offline   ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

Tags
ทำเงินจากหุ้น, นี่เลย, รวยด้วยหุ้น, วิธีเล่นหุ้น, หุ้น, อยากเป็นเจ้าพ่อตลาดหุ้นไหม
คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is ใช้ได้
Trackbacks are ใช้ได้
Pingbacks are ใช้ได้
Refbacks are ใช้ได้



ออกจากระบบ | RoiGOo เว็บการ์ตูนหรอยกู | เอกสาร | ไปบนสุด

vBulletin รุ่น 3.8.7
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด