View Full Version : การฆ่าตัวตาย (SUICIDE) เหตุผลแรงจูงใจ บทความวิชาการจาก ม.มหิดล


อับดุล
28-06-2013, 20:43
หากเราอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน เราจะเห็นการฆ่าตัวตายได้บ่อยในหน้าหนังสือพิมพ์ คนฆ่าตัวตาย เขาคิดยังไงกันนะทำไมเขาจึงได้ทำลายทำร้ายร่างกายตัวเองได้ลงคอ นอกจากนั้นยังทำร้ายคนที่อยู่ข้างหลังให้เศร้าโศกเสียใจกับการจากไปของเขาอีกด้วย อาจเป็นเพราะความเครียด และการไม่ยอมรับความเป็นจริง บางครั้งเขาอาจไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะรับมือปัญหาหนัก ๆ ได้ บางครั้งอาจเห็นกรณีที่อกหักฆ่าตัวตาย นี่คือ การไม่ยอมรับความจริงอีกประเภทหนึ่ง การที่เราไม่ยอมรับความทุกข์ เรารู้สึกว่าอยู่กับความทุกข์นี้ไม่ได้ ตาย ๆ ไปเสียเลยยังดีกว่า แบบนี้ก็เหมือนเรายอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มสู้กับปัญหาเลยก็ว่าได้ การที่เราตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเองเป็นเกราะป้องกันชั้นดีจากความคิดฆ่าตัวตาย สติ นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด บางครั้งอารมณ์เครียด ท้อแท้สิ้นหวัง ก็เป็นใหญ่กว่าตัวเรา แต่หากมีสติเราจะไม่มีวันแพ้กับอารมณ์เหล่านี้

http://board.roigoo.com/attachment.php?attachmentid=7294&stc=1&d=1372469009 (http://board.roigoo.com/tags/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%86%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2.html)


การฆ่าตัวตาย (SUICIDE)
การฆ่าตัวตาย (SUICIDE) เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความขัดแย้งต่อบรรทัดฐานในสังคมของหลายประเทศ โดยเฉพาะบทบัญญัติในศาสนาต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงการฆ่าตัวตายว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรในการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การฆ่าตัวตายจึงจัดเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนประเภทหนึ่ง

ในความรู้สึกของคนทั่วไป ความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่ทุกคนพยายามหลีกหนีหรือชะลอให้มาถึงตัวช้าที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของอาชีพแพทย์ แต่การฆ่าตัวตายซึ่งนับว่าฝืนกับความรู้สึกสามัญข้างต้นรวมทั้งสวนทางกับสิ่งที่แพทย์กระทำ และยังความรู้สึกต่างๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์ค่อนข้างมากทั้งในแง่เห็นใจหรือคัดค้าน กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากทุกที จึงสมควรที่เราจะได้ทำความเข้าใจกับการฆ่าตัวตายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อการรักษาและป้องกันเหตุร้ายนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราโมทย์ สุคนิชย์ อาจารย์จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า

การฆ่าตัวตาย แม้จะเป็นสิ่งที่มีมาแต่โบราณแต่ก็มิได้มีการศึกษาพฤติกรรมอันสวนทางกับความต้องการอยู่รอดตามธรรมชาตินี้อย่างเป็นระบบมานานพอในวรรณกรรมนิยายหรือประวัติศาสตร์ การทำลายชีวิตตัวเองมักเป็นการแสดงออกถึงความเสียสละให้แก่ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งอาจไม่เป็นเช่นนั้นในชีวิตจริงและเนื่องจากแนวโน้มสังคมในปัจจุบัน มีสถิติการฆ่าตัวตายหรือพยายามกระทำสูงขึ้นทุกที จุดที่เราควรเพ่งเล็งก็คือ เหตุใดคนจึง "นิยม" ฆ่าตัวตายมากขึ้น ผู้อยู่เบื้องหลังมีความสุขยิ่งขึ้นจริงหรือ และเราจะป้องกันฆ่าตัวตายได้อย่างไร


การฆ่าตัวตาย

[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]

หัวข้อ
แนวคิดของการฆ่าตัวตาย

ปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

สถิติการฆ่าตัวตาย

ผลกระทบจากการฆ่าตัวตาย

แนวคิดของการฆ่าตัวตาย
สำหรับแนวคิดของการฆ่าตัวตาย สามารถจำแนกได้ดังนี้

ทัศนะทางปรัชญาต่อการกระทำอัตวินิบาตกรรม ( ฆ่าตัวตาย )

กรีกโบราณ

- Pythagors " มนุษย์เป็นสมบัติของเทพ ( gods ) มนุษย์จึงไม่มีสิทธิที่จะละทิ้งทั้งโลกโดยปราศจากความยินยอมของเทพ

- โสกราตีส เห็นว่าการกระทำอัตวินิบาตกรรมเป็นสิ่งชั่วร้ายทุกกรณี

- เพลโต้ งานเขียน " Phedo " ( สานุศิษย์โสกราตีส ) ติเตียนอัตวินิบาตกรรมโดยทั่วไป แต่มีบางกรณียกเว้นได้ : ความเจ็บปวดไม่สามารถทนทานความเสื่อมเกียรติ คำสั่งรัฐ

- อริสโตเติ้ล อัตวินิบาตกรรมเป็นการกระทำที่ขาดเขลา + ทำผิดต่อรัฐ

อย่างไรก็ตาม มีแนวคิดสนับสนุนต่อการฆ่าตัวตาย คือ

- เอพิคคิวเรียน ( Epicurcans ) และ สโตอิด ( Stoics ) ได้กล่าวถึงการฆ่าตัวตาย ไว้ว่า อัตวินิบาตกรรมแสดงออกถึง

เสรีภาพ , สง่างาม , สมเหตุสมผลของมนุษย์ โดยมีการยอมรับ การฆ่าตัวตายในลักษณะดังนี้

1. การเสียสละชีวิตเพื่อสังคม + ประเทศ

2. หลีกเลี่ยงการถูกบังคับทำผิดกม.

3. ความยากจน + ความเจ็บปวดอ่อนแอของจิตใจ ทำให้ความตายมีค่ากว่า การมีชีวิตอยู่

ต่อมาในช่วงแรกศตวรรษที่ 5 นักบุญออกัสติน คัดค้านฆ่าตัวตาย โดยให้เหตุผลสำคัญของการฆ่าตัวตายว่า

1. ทำให้การเป็นไปของการสำนึกผิดหมดไป

2. คือการฆ่าคนอันเป็นการกระทำต้องห้าม

3. ไม่มีบาปใดสมควรแก่ความตาย ชาวคริสต์ไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสิน เรื่องนี้เป็นเอกสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าเพียงลำพัง

4. เป็นบาปที่ยิ่งใหญ่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม

โลกตะวันออก

ได้มีแนวคิดเรื่องการฆ่าตัวตายดังนี้

- ศาสนาอิสลาม : ถือว่าอัตวินิบาตกรรม ถือว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ใครก็ตามที่ฆ่าตัวตายต้องทุกข์ทรมานด้วยไฟนรกและถูก อัปเปหิออกจากสวรรค์ตลอดไป

- ศาสนาพุทธ : ( ปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค ตติยปราชิกกัณฑ์ สิกขาบท วิภังค์บัญญัติ และอนุบัญญัติไว้ )

ความเชื่อของพุทธศาสนิกชน

- พุทธศานาไม่ยินยอมให้ทำอัตวินิบาตกรรมเป็นอันขาด

- อัตวินิบาตกรรมเป็นโทษหนักสามารถทำให้ผู้กระทำไปปฏิสนธิในอบายภูมิได้

- จริยศาสตรของขงจื้อ : ( ก่อนประเทศจีนเป็นคอมมูนิสต์ ) อัตวินิบาตกรรมในกรณีโรคร้ายที่ไม่สามารถเยียวยารักษาได้เป็นที่ยอมรับกัน

ดังนั้น การฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมที่พบบ่อย ๆ ในสังคมมาตั้งแต่อดีต จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยอาจมีหลายสาเหตุ อาทิ

1. อาการซึมเศร้า

2. โรคจิต

3. ติดสุราเรื้อรัง , สารเสพติด

4. บุคลิกภาพผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม การฆ่าตัวตายอาจมีหลายสาเหตุ โดยจำแนกได้ดังนี้

ความเชื่อ ลัทธิ ศาสนา :

- การทรมานคน , หลุดพ้น

- อยู่กับพระเจ้า

- เกิดใหม่ชาติหน้า

จิตวิทยา :

- ต้องการแก้แค้น ทำลาย

- ต้องการทำร้ายตัวเอง , รู้สึกผิด , ไร้ค่า

- ต้องการตาย , หนีความทุกข์

เวชปฏิบัติ

- พ้นจากความเจ็บปวด ทรมาน พิการ

- ความรู้สึกสิ้นหวัง เสียสมรรถภาพ

- โรคทางจิตเวช : โรคซึมเศร้า

- โรคทางสมอง : ติดสารเสพติด

สังคมวิทยา

- Egoistic ไม่มีความผูกพันในกลุ่ม คนที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องจาก ขาดความผูกพันต่อกลุ่ม เช่น คนที่อยู่ในเมืองใหญ่

มีผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า

* คนมีการศึกษาสูง ฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่มีการศึกษาต่ำ

* คนไม่มีลูก ฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่มีลูก

* ชาวคริสต์นิกายคาทอลิกมีการฆ่าตัวตายน้อย เป็นต้น

- Altruistic ผูกพันในกลุ่มมาก คนที่ฆ่าตัวตาย เนื่องจากมีความผูกพันกับกลุ่มมาก โดยอาจมีการเสียสละเพื่อกลุ่มหรือสังคมที่อยู่ เช่น การยอมเสียสละตัวเอง , ฮาราคีรี , ระเบิดพลีชีพ

- Anomic เปลี่ยนสถานะสังคม จนปรับตัวไม่ได้ คนฆ่าตัวตายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมจนกระทั่งเกิดการปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะในสภาพสังคมเมืองหลวง เช่น การสูญเสียคนรัก , ตกงาน , ตกอับ สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และ ขาดบรรทัดฐานที่แน่นอน



ปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
แพทย์โดยเฉพาะจิตแพทย์สนใจศึกษาเรื่องอัตวินิบาตกรรมมานานเกือบศตวรรษแล้ว และจากการวิจัยบ่งชี้ว่ามีปัจจัยหลายประการที่นำคนไปสู่การจบชีวิตตนเองซึ่งได้แก่

1. ปัจจัยภายในตัวผู้กระทำเอง คือพันธุกรรมและการมีโรคซึมเศร้าอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสมดุลของสารเคมีในสมองซึ่งควบคุมอารมณ์ของคนเรา ทำให้คนนั้นเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้หมดหวัง จนคิดอยากฆ่าตัวตายในที่สุดโดยอาจไม่ต้องมีเรื่องให้เครียดหนักนัก ซึ่งเราอาจเคยอ่านพบในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า บางคนที่ฆ่าตัวตายนั้นญาติเองก็ยังไม่เข้าใจมูลแห่งของการกระทำอย่างนั้นเลย นอกจากนี้บุคลิกภาพของแต่ละคนอาจมีจุดอ่อน ซึ่งพร้อมที่แตกร้าวได้ยากง่ายต่างกันไป เมื่อกระทบมรสุมชีวิตเรื่องเหมือนกัน

2. ปัจจัยภายนอกตัวผู้ป่วย ได้แก่สภาพสังคม การงาน การเงิน ซึ่งก่อความรู้สึกผิด สูญเสีย หมดหวัง มักตกเป็นจำเลยแต่ผู้เดียวที่ทำให้คนฆ่าตัวตายเสมอ โดยละเลยปัจจัยในข้อ 1 ไป นอกจากนี้ภาพที่ผ่านสู่มวลชนอาจสร้างค่านิยมให้ยอมรับการฆ่าตัวตายว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมแบบหนึ่งอีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราโมทย์ สุคนิชย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าหลังจากการฆ่าตัวตายของคนๆ หนึ่ง ผู้ที่ต้องทนทุกข์ต่อไปก็คือคนใกล้ชิดและครอบครัว ซึ่งไม่อาจพูดถึงการตายของคนที่เขารักได้อย่างเต็มปาก เนื่องจากสังคมก็เฝ้าซุบซิบอยู่ ทั้งคนเหล่านั้นเองก็อาจรู้สึกระคนอยู่ เมื่อนึกไปว่าถ้าได้ทำบางอย่างไปหรือถ้าไม่ทำบางอย่างไปก็คงไม่เกินการจบชีวิตขึ้น



สถิติการฆ่าตัวตาย
- ประเทศที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ อันดับ 1 ได้แก่ ประเทศฮังการี โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายของประชากร คือ 38.6 : 100,000 คน รองลงมาคือ ประเทศศรีลังกา ส่วนประเทศไทย อันดับที่ 26 โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรคือ ประมาณ 9 : 100,000 คน โดยประชากรที่ฆ่าตัวตายในปัจจุบัน อายุ 15 - 24 ปี มี มากขึ้น

- จังหวัดที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดในไทย คือ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ระยอง จันทบุรี ประเด็นสำคัญคือ จังหวัดดังกล่าวล้วนแต่เป็นจังหวัดท่องเที่ยง อันอาจมีสาเหตุการฆ่าตัวตายจาก โรคเอดส์

- อาการ หรือ สัญลักษณ์อันตรายของผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย คือ มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ต่อเนื่อง 2 อาทิตย์ขึ้นไป มีอาการเตือนคนข้างเคียง มีความคิด ไม่อยากอยู่เพราะทรมาน



ผลกระทบจากการฆ่าตัวตาย
1. สูญเสียทรัพยากรบุคคล และเศรษฐกิจของประเทศ

2. สุขภาพจิตของคนใกล้ชิด เพราะอาจเป็นเสมือน ตราบาปในใจของผู้ใกล้ชิดไปตลอดชีวิต

3. เป็นเครื่องบ่งชี้สภาพของสังคม โดยเฉพาะสภาวะความผูกพันของคนในสังคม

กระบวนการฆ่าตัวตายมีความซับซ้อนทั้งความกว้างและลึก การรอให้เกิดการกระทำขึ้นก่อนแล้วค่อยบำบัดรักษาโดยไม่ป้องกันตั้งแต่การเริ่มมีแนวคิด ทั้งละเลยไม่ช่วยประคับประคองจิตใจของทั้งผู้กระทำและญาติ หรือโยนความผิดให้กับปัญหาสังคมหรือความเจริญซึ่งดูจะใหญ่เกินแก้แต่เพียงอย่างเดียว น่าจะไม่เพียงพออีกแล้ว ควรที่แพทย์จักร่วมมือกับสังคมป้องกันการลุกลามของกระบวนการนี้ ให้ความรู้คนทั่วไปเสี่ยงอาการของโรคซึมเศร้าเพื่อหากลุ่มเสี่ยงสนับสนุนให้สถาบันครอบครัวมีความใกล้ชิดแน่นแฟ้นมากขึ้นเพื่อเป็นที่พึ่งแก่สมาชิกคนใดคนหนึ่งที่อาจรู้สึกหมดหวัง สร้างทัศนคติของแพทย์ทั่วไปให้มองการฆ่าตัวตายว่าเป็นวิธีขอความช่วยเหลือจากผู้เดือดร้อนวิธีหนึ่งและสามารถเป็นผู้ให้คำปรึกษาเบื้องต้น (นอกเหนือไปจากพิจารณาสั่งยา) ได้ เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่ฆ่าตัวตาย ได้วนเวียนไปพบแพทย์และเปรยคำว่า "อยากตาย" หรือ "ฆ่าตัวตาย" ก่อนลงมือกระทำราว 1-2 สัปดาห์ ทั้งควรสร้างค่านิยมที่ถูกต้องต่อกระบวนการนี้ว่าไม่ใช่เป็นวิธีน่าเทิดทูน เสียสละ ทันสมัย หรือใช้มาต่อรองสิ่งใดอีกต่อไป แล้วประเทศชาติจะมีคนที่สามารถอยู่สร้างประโยชน์มากขึ้นได้ปีละหลายพันคนทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจาก

อาจารย์สุมนทิพย์ จิตสว่าง อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.polsci.chula.ac.th/sumonthip/

พบหมอรามา
www.dmh.go.th (http://www.dmh.go.th)