เว็บการ์ตูนหรอยกู

กลับไป   เว็บการ์ตูนหรอยกู > General Topic > พักผ่อนหย่อนใจ > ที่กินที่ท่องเที่ยว

ตอบ
อ่าน: 2046 - คำตอบ: 0  
LinkBack คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
เก่า 18-06-2013   #1
Moderator
 
อับดุล's Avatar
 
วันที่สมัคร: Jan 2013
ข้อความ: 173
ถ่ายทอดพลัง: 1
คะแนนหรอย: 34
Default พาทัวร์ สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนครปฐม

พาทัวร์ สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนครปฐม อยู่กรุงเทพ นาน ๆ อยากออกไปสูดอากาศเดินดูผู้คนภายนอกหลีกหนีความวุ่นวายบ้างแต่ก็ไม่อยากขับรถไปใกล ๆ จะไปที่ไหนดีนะ วันนี้เรามีตัวเลือกน่าสนใจให้เป็นจังหวัดที่ไม่ใกลจากกรุงเทพ และมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าเที่ยว ทั้งเที่ยวทั้งกินให้อิ่มหมีพลีมัน อย่าง จ. นครปฐม สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนครปฐม นั้นมีหลายแห่ง รวมถึงกลิ่นไอสมัยเก่าก่อน ทั้งวัดวาอาราม สวยงามมากมาย รวมทั้งของฝากมากหลายให้เลือกซื้อไปฝากคนที่บ้านอีกด้วย การเดินทางก็ไม่ได้ลำบากอะไร ไม่ต้องใช้เวลานานเป็นวัน ๆ หมดไปกับการเดินทาง แถมมลพิษย่อมน้อยกว่ากรุงเทพแน่นอน เพราะฉะนั้น นครปฐม จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สามารถคิดถึงเป็นอันดับแรกได้ จะเลือกขับรถไปกินลมชมวิวไป หรือจะนั่งรถทัวร์ ไปก็ไม่ว่ากัน แล้วแต่สะดวก ยิ่งหากไปกับเพื่อนฝูงด้วยแล้วยิ่งสนุกไปกันใหญ่


เป็นพระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จังหวัดนครปฐมได้ใช้พระปฐมเจดีย์เป็นตราประจำจังหวัด พระปฐมเจดีย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นองค์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2396 โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างครอบพระเจดีย์องค์เดิมซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่ มีฐานแบบโอคว่ำและมียอดปรางค์อยู่ข้างบน สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 4 เนื่องจากรูปร่างของเจดีย์แบบโอคว่ำ มีลักษณะคล้ายกับสาญจีเจดีย์ในอินเดีย ซึ่งสร้างสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช การก่อสร้างเจดีย์ครอบองค์ใหม่เสร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2413 รวมเวลาก่อสร้าง 17 ปี พระเจดีย์องค์ใหม่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม รูประฆังคว่ำแบบลังกา มีความสูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฎ 3 เส้น 1 คืบ 10 นิ้ว (หรือประมาณ 120.5 เมตร) ฐานวัดโดยรอบได้ 5 เส้น 17 วา 3 ศอก (หรือประมาณ 233 เมตร) ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงบูรณะวัดพระปฐมเจดีย์ให้สง่างามมากขึ้น และถือว่าวัดพระปฐมเจดีย์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 พระปฐมเจดีย์ เปิดตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. ค่าเข้าชมชาวต่างประเทศ 40 บาท ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะมีงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดประโยชน์และรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ โทร. 0 3424 2143 นอกจากนี้ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ยังมีสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ดังนี้

พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ประดิษฐานในซุ้มวิหารทางทิศเหนือ หน้าองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยได้พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท มาจากเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำรูปปั้นขี้ผึ้งปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์เต็มองค์ ทำพิธีหล่อที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ. 2456 แล้วอัญเชิญไปประดิษฐาน ไว้ในซุ้มวิหารด้านทิศเหนือตรงกับบันไดใหญ่ และพระราชทานนามว่า ?พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร? และที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณชั้นลดด้านทิศตะวันออกตรงข้ามพระอุโบสถ ภายในเก็บวัตถุโบราณที่ขุดพบได้จากสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดนครปฐมทั้งสมัยบ้านเชียง สมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูป หินบดยา ลูกประคำดินเผา กำไลข้อมือ เงินโบราณ ฯลฯ และยังเป็นที่เก็บหีบศพของย่าเหลและโต๊ะหมู่บูชาซึ่งใช้ในพิธีศพของย่าเหลซึ่งเป็นสุ
นัขที่รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดปรานมากและถูกคนลอบยิงตาย พระองค์ทรงเสียพระทัยมาก โปรดฯให้สร้างอนุสาวรีย์ไว้อาลัย พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-16.30 น. (ปิดช่วงเวลา 12.00?13.00)


พุทธมณฑล
อำเภอพุทธมณฑล จ.นครปฐม



เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ พุทธมณฑลเป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาล และประชาชนชาวไทยร่วมใจกันจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาได้ถึง 2,500 ปี บริเวณจุดศูนย์กลางของพุทธมณฑล เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา เป็นพระประธานของพุทธมณฑลมีความสูง 2,500 กระเบียด (ประมาณ 15.875 เมตร) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า ?พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์? รอบองค์พระประธานเป็นสถานที่จำลองของสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ตำบลอันเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ พระวิหารพุทธมณฑล ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช และที่พำนักสงฆ์อาคันตุกะ หอประชุมทางกิจการพระพุทธศาสนา ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน พิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนา หอสมุดพระพุทธศาสนา สวนไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ และในปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีในวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น เปิดเวลา 05.00-19.00 น. ผู้ที่จะเข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดแจ้งความจำนงได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์พุทธมณฑล โทร. 0 2441 9012, 0 2441 9009, 0 2441 9801-2, 0 2441 9440 กองพุทธสารนิเทศ โทร. 0 2441 4515

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงได้หลายเส้นทาง คือเดินทางไปตามถนนเพชรเกษม ถึงประมาณกิโลเมตรที่ 22 เลี้ยวขวาเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปประมาณ 8 กิโลเมตร หรือเดินทางไปตามถนนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี แล้วแยกเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปเล็กน้อย นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางโดยใช้ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แยกเข้าสู่ถนนอุทยาน(อักษะ) เพื่อมุ่งเข้าสู่พุทธมณฑลได้ ถนนอุทยาน(อักษะ)เป็นถนนที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ด้วยแนวเสาไฟประดับรูปกินรี น้ำพุและไม้ประดับต่างๆ มีทัศนียภาพที่สวยงาม


พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชวังสนามจันทร์)
อำเภอเมือง จ.นครปฐม


ตั้งอยู่ในตัวเมือง ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา พระราชวังแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2450 โดยหลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลปี) ซึ่งต่อมาเลื่อนยศเป็นพระยาศิลป์ประสิทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง พระที่นั่งเมื่อแรกสร้างมีเพียง 2 พระที่นั่ง ได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม และพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี และพระราชทานนามตามประกาศลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2454 และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธียกพระมหาเศวตฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นรัตนสิงหาสน์ ภายในพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2466

การสร้างพระราชวังแห่งนี้มีมูลเหตุจูงใจมาจาก การบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยเมืองนครปฐมเป็นอย่างยิ่ง ทรงเห็นว่าเป็นเมืองที่เหมาะสมสำหรับประทับพักผ่อนเนื่องจากมีภูมิประเทศที่งดงาม ร่มเย็น นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชดำริที่ลึกซึ้ง นั่นก็คือ ทรงเห็นว่านครปฐมเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะ สำหรับต้านทานข้าศึกซึ่งจะยกเข้ามาทางน้ำได้อย่างดี ด้วยทรงจดจำเหตุการณ์ เมื่อ ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาปิดปากอ่าวไทยได้ และไม่ต้องการที่จะให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพดังกล่าว จึงตั้งพระทัยที่จะสร้างพระราชวังสนามจันทร์ ไว้สำหรับเป็นเมืองหลวงที่สองหากประเทศชาติประสบปัญหาวิกฤติพระราชวังสนามจันทร์ มีอาณาเขตกว้างขวางประกอบด้วยสนามใหญ่อยู่กลาง มีถนนโอบเป็นวงโดยรอบ และมีคูน้ำล้อมอยู่ชั้นนอก ส่วนพระที่นั่งต่าง ๆ นั้นรวมกันอยู่ส่วนกลางของพระราชวัง เท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่
พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์ เป็นตึก 2 ชั้นแบบตะวันตก ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงใช้เป็นที่ประทับโดยเฉพาะก่อนเสด็จฯขึ้นครองราชย์ เป็นที่ทรงพระอักษร ที่เสด็จออกขุนนาง ที่รับรองพระราชอาคันตุกะ และออกให้ราษฎรเข้าเฝ้ามากกว่าพระที่นั่งอื่นๆ ภายในพระที่นั่งมีห้องต่างๆ อาทิ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องเสวย ห้องภูษา ฯลฯ มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาอยู่องค์หนึ่ง และมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร(จันทร์ จิตรกร) งดงามน่าชม และที่พระที่นั่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทับทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ขององค์พระปฐมเจดีย์บนแท่นไม้สักมีขนาด 2 เมตร ชื่อว่า ?พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย์? ขณะนี้ทางการได้รื้อนำไปตั้งไว้หน้าพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนพระที่นั่งพิมานปฐมนั้น ปัจจุบันใช้เป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัดนครปฐม
พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี เป็นตึก 2 ชั้น อยู่ด้านใต้ของพระที่นั่งพิมานปฐม ขณะนี้ใช้เป็นที่ทำการของศาลากลางจังหวัดนครปฐม

พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นตึก 2 ชั้น สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทย หลังคาซ้อน มียอดปราสาทมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีงดงาม มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ครบถ้วน พระที่นั่งองค์นี้เคยใช้เป็นที่บรรทม เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัด

พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ อยู่ถัดจากพระที่นั่งวัชรีรมยา โดยมีโถงใหญ่และหลังคาเชื่อมต่อกัน เป็นศาลาโถง ทรงไทย ยกสูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตร และมีอัฒจันทร์ลงสองข้าง หน้าบันอยู่ทางทิศเหนือเป็นรูปจำหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพร ประทับอยู่ในพิมานปราสาทสามยอด พระหัตถ์ขวาทรงวชิระ พระหัตถ์ซ้ายประทานพรแวดล้อมด้วยบริวาร ประกอบด้วยเทวดาและมนุษย์ห้าหมู่ พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ออกงานสโมสรสันนิบาต เป็นท้องพระโรงเวลาเสด็จออกขุนนาง เป็นที่ประชุมข้าราชการและกองเสือป่า และใช้เป็นโรงละครสำหรับแสดงโขนอีกด้วย จึงมีชื่อเรียกติดปากชาวบ้านว่า ?โรงโขน? พระที่นั่งมีลักษณะพิเศษ คือ ตัวแสดงจะออกมาปรากฏกายภายนอกฉากบนเฉลียงถึง 3 ด้าน มิใช่แสดงอยู่เพียงบนเวที โรงละครที่มีลักษณะดังกล่าวนี้มีอีก 2 แห่งคือ โรงละครสวนมิสกวัน และหอประชุมโรงเรียนวชิราวุธ ปัจจุบันพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ใช้เป็นหอประชุมของจังหวัดนครปฐม หรือใช้ในพิธีต่าง ๆ ของทางราชการ

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามจันทร์ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้นคล้ายปราสาทขนาดย่อมสีไข่ไก่ หลังคามุงกระเบื้องสีแดง สถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์ของฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาร์ฟทิมเบอร์ของอังกฤษ สร้างแบบตะวันตกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักนี้ราวปี พ.ศ. 2451 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ ชั้นบนมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม และห้องสรง ชั้นล่างทางทิศตะวันตกเป็นห้องรอเฝ้าฯ และเคยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวในการออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์ พระตำหนักหลังนี้ เคยใช้เป็นที่ประทับเมื่อเวลามีการซ้อมรบเสือป่า ณ พระราชวังสนามจันทร์ และทรงใช้เป็นที่ประทับตลอดช่วงปลายรัชกาลเมื่อเสด็จพระราชวังสนามจันทร์

พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นเรือนไม้สักทอง 2 ชั้นแบบตะวันตกทาสีแดง ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค พระตำหนักองค์นี้ สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เชื่อมติดต่อถึงกันด้วยฉนวนทางเดินทอดยาวลักษณะเป็นสะพาน หลังคามุงกระเบื้อง ติดหน้าต่างกระจกตลอดความยาวสองด้าน จากชั้นบนด้านหลังพระตำหนักชาลีฯ ข้ามคูน้ำมาเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ราวปี พ.ศ. 2459 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ พระตำหนักทั้งสองหลังสร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากบทละครเรื่อง My friend Jarlet ของ Arnold Golsworthy และ E.B. Norman ซึ่งทรงแปลบทละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทยชื่อว่า ?มิตรแท้? โดยทรงนำชื่อตัวละครในเรื่องมาเป็นชื่อของพระตำหนัก

พระตำหนักทับแก้ว เป็นตึกหลังเล็กซึ่งเคยเป็นที่ประทับในฤดูหนาว ปัจจุบันได้ปรับปรุง และตกแต่งสวยงาม ใช้เป็นบ้านพักของปลัดจังหวัดนครปฐม ภายในอาคารยังมีเตาผิงสำหรับให้ความอบอุ่น และมีภาพเขียนขาวดำของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บนแผ่นหินอ่อนสีขาวที่ผนังห้อง อนึ่งที่ดินบริเวณเบื้องหลังทับแก้วประมาณ 450 ไร่ ได้กลายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร
พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไทยภาคกลางที่สมบูรณ์แบบ สร้างด้วยไม้สักทอง ใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบฉบับบ้านไทยโบราณ ฝาเรือนทำเป็นฝาปะกนกรอบลูกฟัก เชิงชายและไม้ค้ำยันสลักเสลาสวยงาม หลังคาเดิมมุงจาก หลบหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างคือ พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) พระตำหนักทับขวัญ ประกอบด้วยกลุ่มเรือน 8 หลัง ได้แก่ เรือนใหญ่ 4 หลัง เรือนเล็ก 4 หลัง สร้างให้หันหน้าเข้าหากัน 4 ทิศบนชานรูปสี่เหลี่ยม เรือนหลังใหญ่เป็นหอนอน 2 หอ (ห้องบรรทมเป็นหอนอนที่อยู่ทางทิศใต้) อีก 2 หลังเป็นเรือนโถงและเรือนครัวซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนเรือนเล็กอีก 4 หลังนั้นตั้งอยู่ตรงมุม 4 มุมๆ ละ 1 หลัง ได้แก่ หอนก 2 หลัง เรือนคนใช้และเรือนเก็บของ เรือนทุกหลังมีชานเรือนเชื่อมกันโดยตลอด บริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันทน์แผ่กิ่งก้านไว้ให้ร่มเงา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น เพื่อรักษาศิลปะบ้านไทยแบบโบราณและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักองค์นี้เป็นเวลา 1 คืน และเมื่อมีการซ้อมรับเสือป่า พระตำหนักองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์

เทวาลัยคเณศวร์ หรือเรียกว่า ศาลพระพิฆเนศวร ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าใหญ่ของพระราชวังสนามจันทร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างศาลเทพารักษ์ขึ้น สำหรับพระราชวังสนามจันทร์ ประดิษฐานพระพิฆเนศวร์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเมื่อมองจากพระที่นั่งพิมานปฐมจะเห็นพระปฐมเจดีย์ เทวาลัยคเณศวร์และพระที่นั่งพิมานปฐม อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ศาลนี้เป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์ มีผู้ศรัทธานับถือกันมาก จนเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของพระราชวังสนามจันทร์

อนุสาวรีย์ย่าเหล เป็นรูปหล่อด้วยโลหะขนาดเท่าตัวจริงของสุนัข ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิด กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ย่าเหลเป็นสุนัขพันธุ์ทาง หางเป็นพวง สีขาวด่างดำ หูตก เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม เป็นสุนัขของหลวงชัยอาญา (โพธิ์ เคหะนันท์) ซึ่งเป็นพะทำมะรง (ผู้ควบคุมนักโทษ) พระองค์ทรงพบเข้าเมื่อครั้งเสด็จฯตรวจเรือนจำ จึงนับว่าเป็นโชคของย่าเหลที่ทรงพอพระราชหฤทัย และทรงนำย่าเหลมาเลี้ยงไว้ในราชสำนัก ด้วยความที่ย่าเหลเป็นสุนัขที่เฉลียวฉลาด และจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน จนเป็นที่โปรดปรานมาก เป็นเหตุให้มีผู้อิจฉาริษยาและลอบยิงย่าเหลตายในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโศกเศร้า อาลัยย่าเหลมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หล่อรูปย่าเหลด้วยทองแดง ตั้งไว้หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และทรงพระราชนิพนธ์กลอนไว้อาลัยย่าเหล ติดไว้ที่แท่นใต้รูปหล่อนั้นด้วย
เรือนพระธเนศวร ในสมัยก่อนเคยใช้เป็นบ้านพักอาศัยของเจ้าพระยาบุรุษรัตนราชวัลลภ ภายในจัดแสดงพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและพระบรมวงศานุวงศ์ มีห้องแสดงเรือกอและสิ่งของซึ่งนำมาจากหลายที่ เช่น จากพระตำหนักสวนจิตรลดาหรือพระราชวังบางปะอิน
นอกจากนี้ ภายในพระราชวังสนามจันทร์ ยังมีบ้านพักข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในที่ตามเสด็จ บ้านพักเหล่านี้ บางหลังก็ชำรุดทรุดโทรม แต่หลายหลังยังอยู่ในสภาพดีที่เห็นได้ก็คือ บ้านพักเจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กซึ่งครั้งนั้นเรียกว่า ?ทับเจริญ? ปัจจุบันนี้ ได้ใช้เป็นสถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก

พระราชวังสนามจันทร์ เป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดมากเป็นพิเศษ จะเห็นได้จากการที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังแห่งนี้อยู่เนืองๆ โดยเสด็จฯแปรพระราชฐานให้ตรงกับฤดูการซ้อมรบของพวกเสือป่า พระองค์จึงทรงถือโอกาสออกตรวจตรา และบัญชาการซ้อมรบของพวกเสือป่าด้วยพระองค์เองเสมอ ปัจจุบันก็ยังมีอาคารซึ่งปลูกสร้างขึ้นเพื่อกิจการของเสือป่าเหลืออยู่ให้เห็น เช่น อาคารที่พักของเสือป่าม้าหลวง และเสือป่าพรานหลวงกับโรงพยาบาลเสือป่า เป็นต้น
ปัจจุบันพระราชวังสนามจันทร์บางส่วนอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยศิลปากร และจังหวัดนครปฐม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดขายบัตร 15.30 น.) อัตราค่าเข้าชม คนไทย ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท พระภิกษุ สามเณร แม่ชี นักศึกษา 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท โทร. 0 3424 4236-7 โทรสาร 0 3424 4235


สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ
อำเภอพุทธมณฑล จ.นครปฐม


ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทย สำหรับศึกษา วิจัย พัฒนา และการเรียนรู้ของสังคม มีพื้นที่ประมาณ 38 ไร่ รวบรวมพันธุ์สมุนไพรกว่า 1,200 ชนิด จัดปลูกไว้ในลักษณะต่าง ๆ กัน พร้อมแสดงป้ายชื่อและสรรพคุณที่ชัดเจน จึงเหมาะที่จะเป็นห้องเรียนธรรมชาติสำหรับนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งผู้สนใจ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาให้เป็นโครงการดีเด่นแห่งชาติ สาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ด้านสมุนไพร) ประจำปี 2539

พื้นที่สวนแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรือนเพาะชำ ปลูกสมุนไพรที่ต้องการการดูแลพิเศษ ส่วนที่สองเป็นสวนหย่อมสมุนไพร และส่วนสุดท้ายปลูกในลักษณะสวนป่า เพื่อแสดงระบบนิเวศที่สมุนไพรเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ มีสมุนไพรที่ใที่หาชมได้ยากหลายชนิด เช่น โมกราชินี สิรินธรวัลลี สามสิบกีบน้อย และจิกดง ซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก มะลิซาไก สมุนไพรหายากที่ใช้เป็นยาคุมกำเนิดของชนเผ่าซาไก กำแพงเจ็ดชั้น กวาวเครือขาว และกวาวเครือแดง รวมทั้งสมุนไพรที่เป็นพืชผักพื้นบ้านอีกหลายชนิด

ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 7.00 - 17.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะและผู้นำชมเพื่อให้ได้ความรู้อย่างครบถ้วน สามารถติดต่อล่วงหน้าที่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กรุงเทพฯ โทร. 0 2644 8678 - 90 ต่อ 5550 โทรสาร 0 2644 8696
ดูรายละเอียดได้ที่ www.pharmacy.mahidol.ac.th

ที่มา tot.or.th




รูปขนาดเล็ก
เที่ยวในจังหวัดนครปฐม.jpg  
อับดุล is offline   ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

Tags
ของดีนครปฐม, นครปฐม, พาทัวร์, สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนครปฐม
คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is ใช้ได้
Trackbacks are ใช้ได้
Pingbacks are ใช้ได้
Refbacks are ใช้ได้



ออกจากระบบ | RoiGOo เว็บการ์ตูนหรอยกู | เอกสาร | ไปบนสุด

vBulletin รุ่น 3.8.7
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด