เว็บการ์ตูนหรอยกู

กลับไป   เว็บการ์ตูนหรอยกู > General Topic > การศึกษาและเรียนรู้ > ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ตอบ
อ่าน: 2714 - คำตอบ: 1  
LinkBack คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
เก่า 22-04-2013   #1
Senior Member
 
NuRay's Avatar
 
วันที่สมัคร: Sep 2011
ข้อความ: 954
บล็อก: 7
ถ่ายทอดพลัง: 1,013
คะแนนหรอย: 588
Default เปิดประชาคมอาเซียน ก็เปิดหนังสือวรรณกรรมไทย

วรรณกรรมไทยตอนนี้มีหลายเล่ม หลายเล่มสร้างชื่อเสียงในระดับที่ดีเลยทีเดียว(ทำงานด้านนี้มาเลยพอทราบ) ช่วงที่กำลังจะเปิดประชาคมอาเซียนมีคนพูดถึง หนังสือวรรณกรรมไทยที่จะได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆมากขึ้น ซึ่งทางประเทศไทยถือว่าเป็นการนำเงินเข้ามาในประเทศไทยอย่างดีเลยทีเดียว และหนังสือก็ถือว่าเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยที่มีอยู่อีกด้วย ประชาคมอาเซียนจะเปิดหรือไม่ถ้าเปิดหนังสือวรรณกรรมไทยจะเป็นอย่างไรลองอ่านกันดูจ้า



อย่าเพิ่งเบื่อกันเสียก่อนหากได้ยินคำว่า 'อาเซียน' อีกแล้ว โดยเฉพาะระยะนี้ต่อไปถึงปี 2558 ที่ภูมิภาคนี้จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันสำหรับด้านเศรษฐกิจอันเป็นตัวชูโรงในการจับมือจูบปากกันของประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ นั้นอาจนำมาซึ่งเม็ดเงินทั้งเข้าและออกมหาศาล การค้าการขายเป็นไปโดยเสรีมากขึ้น พ่อค้าวาณิชย์และผู้บริโภคไปมาหาสู่กันมากมาย แน่นอนว่าศิลปวัฒนธรรมที่ติดตัวกันมาย่อมได้เดินทางแลกเปลี่ยนกันด้วยเช่นกัน

วรรณกรรมก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ได้รับผลพลอยได้จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน...กว่าจะถึงปี 2558 ก็เกือบสองปีเต็ม แต่แค่เผลอไผลกาลเวลาก็อาจวิ่งไล่มาถึงโดยมิทันตั้งตัว วันนี้ฟันเฟืองในบรรณพิภพควรเตรียมตัวอย่างไร...ก่อนจะถึงวันนั้น

วรรณกรรม...สายสัมพันธ์ที่มาก่อน

เป็นที่ทราบกันดีว่ารางวัลวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้เป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก 'ซีไรต์' หรือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน ซึ่งปีนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 35 แล้ว เกิดขึ้นก่อนองค์การอาเซียนเสียด้วยซ้ำ และถือได้ว่ารางวัลนี้เป็นรางวัลเดียวในระดับภูมิภาคนี้

ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร อธิบายว่า "อาเซียนในความหมายของซีไรต์คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แรกเริ่มมีเพียง 5 ประเทศต่อมาก็เริ่มครบถ้วน แต่ก็มีประเทศที่ห่างหายไป เช่น กัมพูชา พม่า"

สำหรับในประเทศไทย ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บอกว่ารางวัลนี้เป็นศึกซีไรต์ค่อนข้างมาก มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก แต่ในประเทศอื่นคัดเลือกด้วยวิธีอื่น เช่น มอบเป็นรางวัล Life Time Archievement เหมือนรางวัลศิลปินแห่งชาติ หรือบางประเทศเลือกนักเขียนที่เป็นดาวเด่น บางประเทศเลือกนักเขียนที่มีงานเขียนสดใหม่ มีกลวิธีไม่ซ้ำเดิม

เมื่อย้อนไปไกลกว่านั้น หากสังเกตให้ดีวรรณกรรมของแต่ละประเทศมีบางสิ่งบางอย่างคล้ายคลึงกัน

"ถ้าเราพูดถึงเรื่องรามเกียรติ์ มีทุกประเทศเลย ยกเว้นฟิลิปปินส์ที่มีวัฒนธรรมแบบยุคหลังอาณานิคม แต่ในอินโดนีเซีย ในชวา ยังคงมีอิทธิพลของเรื่องรามายณะอยู่"

แปลภาษา...สู่อาเซียน

อาจไม่ต้องเอ่ยถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันอย่างคล่องแคล่ว เพราะเมื่อนักเขียนไทยเขียนหนังสือเสร็จ เส้นทางที่หนังสือภาษาไทยเดินทางไปก็มักจะวนเวียนอยู่ในประเทศนี้เพราะภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติไทยแต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้นกระบวนการสำคัญประการหนึ่งที่จะสร้างสายป่านให้นักเขียนไทย คือ การแปล ซึ่ง ผศ.ดร.ตรีศิลป์ พบว่าการแปลหนังสือภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศนั้นยังมีช่องโหว่ที่ทำให้อรรถรสสูญหายไป

"แปลเรื่องสั้น, นวนิยายนี่ง่ายที่สุดนะ เพราะถ่ายทอดออกมาตามนั้น แต่ถ้าแปลบทกวีนี่หมดกัน ถ่ายทอดออกมาแล้วทำลายบทกวีนั้นไปเลย อรรถรสหายหมด เพราะฉะนั้นฝีมือคนแปลยังมีช่องว่างอยู่เยอะเลย ใครจะแปล คนแปลมีฝีมือแค่ไหน เข้าใจถึงวรรณศิลป์ของไทยแค่ไหน"

นอกจากนักแปลแล้ว นักเขียนและนักอ่านก็เป็นจุดอ่อนที่เราไม่ทัดเทียมเพื่อนบ้าน ไม่ใช่ฝีมือตวัดปากกาทว่าเป็นภาษา...เรื่องเดิมๆ

"เดี๋ยวนี้เราสู้นักเขียนต่างชาติไม่ได้ด้านภาษา เพราะเท่าที่สัมผัส อย่างในมาเลเซียคนเขาพูดภาษาอังกฤษกันเยอะมาก ชาวบ้าน แท็กซี่ เขาก็รู้เรื่อง เวียดนามเดี๋ยวนี้ เด็กปี 2 ปริญญาตรี ดำเนินอภิปรายเป็นภาษาอังกฤษได้ เห็นแล้วก็ตื่นตะลึง นักเขียนสิงคโปร์ก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษ" ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บอก

นายหน้าค้าวรรณกรรม

ไม่ว่าจะในโลกธุรกิจประเภทใด ย่อมมีผู้ผลิต และผู้บริโภค แต่ใช่ว่าจะมีเพียงสองฝ่ายนี้แล้วจะจบบริบูรณ์ไม่ เพราะตรงกลางระหว่างสองฝ่ายย่อมมีเอเจนซี่หรือนายหน้า (ตามแต่จะเรียก) เติมช่องว่างตรงกลางให้เต็ม อีกนัยหนึ่งนายหน้าคือแม่สื่อแม่ชักพาสองฝ่ายให้มารู้จักกัน แล้วสายป่านของสองฝ่ายก็ยาวขึ้น

และในธุรกิจค้าวรรณกรรมก็เช่นเดียวกันที่จำเป็นต้องมี 'สะพาน' ระหว่างสำนักพิมพ์กับนักอ่าน โดยเฉพาะวรรณกรรมที่จะต้องเดินทางไปยังตลาดสากลยิ่งจำเป็นทวีคูณ

"เมื่อก่อนใครจะแปลงานอะไรก็หยิบมาแปลได้เลย แต่เมื่อมีเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ตัวแทนอย่างเราจึงเกิดขึ้นในบรรณพิภพ..." พิมลพร ยุติศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท ทัทเทิล-โมริ เอเจนซี่ กล่าว

"เราก็ซื้องานของฝรั่งมาเยอะ ทำไมเราไม่เอางานของคนไทยออกไปบ้าง เราอ่านงานไทยแล้วรู้สึกว่าดีมาก เริ่มความคิดนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่าเราเริ่มแบบเด็กทารก มีใจแต่ไม่มีความพร้อม ตอนนั้นเริ่มด้วย '2499 อันธพาลครองเมือง' ก็ส่งไปทั่วโลก แต่กระแสตอบรับไม่ดี เราก็มีคำถามว่าทำไม วรรณกรรมที่ดังมากในบ้านเราถึงเดินทางไม่ได้ เราก็ขอเหตุผลจากสำนักพิมพ์ที่เราส่งไป ทุกรายบอกว่า คุณต้องเข้าใจว่ามันดังในประเทศคุณก็จริง แต่ไม่มีใครอยากรู้เรื่อง Gangster ในประเทศเล็กๆ นี้"

เมื่อนั้น พิมลพร จึงเกิดวุฒิปัญญาว่าวรรณกรรมที่จะเดินทางไปได้ต้องมีความเป็นสากล แต่ต้องมีความเฉพาะตัวอีกด้วย สองปัจจัยนี้ที่จะทำให้วรรณกรรมไปสู่สากลได้

มูราคามิ คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดซึ่ง พิมลพร ยกตัวอย่าง ด้วยค่าที่นักอ่านทั่วโลกพูดถึง

"เราอ่านงานเขาแล้วไม่รู้สึกว่าเราแปลกแยก เขาพูดอะไรออกมา เราเข้าใจทุกฉากทุกตอนที่เขาบรรยายออกมา แล้วมูราคามิทำให้รู้สึกว่าได้นั่งฟังท่ามกลางบทสนทนาของเขา"

และนอกจากความเป็นสากลและเอกลักษณ์แล้ว วัฒนธรรมท้องถิ่นตลอดจนแนวคิดของแต่ละประเทศก็คือใบเบิกทางสำคัญให้วรรณกรรม 'ดัง' หรือ 'ดับ'

อย่างที่ พิมลพร ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ เช่น ในอินโดนีเซียไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมแนวใดต้องมีแนวคิดแบบศูนย์สู่ความสำเร็จ (Zero to Hero) หรืออย่างในมาเลเซียที่เป็นประเทศอิลามก็ห้ามเรื่องที่ล่อแหลมผิดศีลธรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับหมู, หมาก็ไม่ควร เป็นต้น

นักเขียน...เดินข้างใน ก่อนเดินทางไกล

นักเขียนถือเป็นต้นทางของผลงานวรรณกรรม และนับว่าเป็นผู้ผลิตที่ต้องปรับตัวมากในโลกไร้พรมแดน (กว่าเดิม) ที่กำลังจะเกิดขึ้น

แต่ถ้าหากปรับเปลี่ยนจนหลุดรูปรอยเดิมแล้ว อัตลักษณ์ที่เป็นสิ่งจำเป็นก็อาจเลือนหายไปหมดสิ้น...คงไม่ดีแน่

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีซีไรต์ แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้ว่า แม้เราจะเดินทางไปต่างประเทศเราสวมเสื้อผ้าชุดเดิมได้ เพียงแต่ต้องเข้าใจทั้งตัวเองและองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งแวดล้อม

"นักเขียนต้องโกอินจริงๆ ส่วนเตอร์ค่อยมาเติมทีหลัง เพราะถ้าเราไม่โกอินให้ถึงความจริง ความดี ความงาม บางทีเราอาจจะเป็นซาตานในนามของศิลปวัฒนธรรม ผมเชื่อแน่ว่าหลังจากอาเซียนเปิดเต็มรุปแบบแล้ว แป้งทะนาคาบนใบหน้าของชาวพม่าจะหายไป เพราะภาคธุรกิจจะรุกเข้าไป แล้วอย่าคิดนะครับว่าวัฒนธรรมของแต่ละชาติจะถูกทำลายโดยภาคธุรกิจเท่านั้น บางทีในนามของศิลปวัฒนธรรมเองนี่แหละ ถ้าความโลภนำหน้าเมื่อไร เราจะไม่เห็นอัตลักษณ์ของชาติต่างๆ"

...

ต่อจากนี้คำว่า 'อาเซียน' คงไม่ใช่ของแปลกหรือของแสลงสำหรับบรรณพิภพไทยอีกต่อไป บางทีกว่าจะถึงวันที่เปิดประชาคมฯจริงๆ การตระเตรียมที่พรั่งพร้อมอาจนำมาซึ่งโลกไร้พรมแดนที่ไร้รอยตะเข็บ

หรืออาจเปรียบได้กับหนังสือที่ถูกเขียนไว้อย่างประณีต อ่านลื่น ไม่สะดุด ทั้งภาษาไทยและสากลนั่นแหละ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน




รูปขนาดเล็ก
วรรณไทยอาเซียน.jpg  
__________________

ชมรมคนรักน้อง Bailee Madison
NuRay is offline   ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
เก่า 22-04-2013   #2
Junior Member
 
BGBG1's Avatar
 
วันที่สมัคร: Apr 2013
ข้อความ: 3
ถ่ายทอดพลัง: 0
รับคำขอบคุณ 1 ครั้งใน 1 กระทู้
Default

ความรู้ใหม่เกี่ยวกับอาเซียนดีมากเลย แต่ยาวไปหน่อยนิ อ่านแล้วมึนๆ

BGBG1 is offline   ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

Tags
ก็เปิดหนังสือวรรณกรรมไทย, ประชาคม, ประชาคมอาเซียน, เปิดประชาคมอาเซียน, วรรณกรรม, วรรณกรรมไทย, หนังสือ, หนังสือไทย, หนังสือวรรณกรรมไทย, อาเซียน
คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is ใช้ได้
Trackbacks are ใช้ได้
Pingbacks are ใช้ได้
Refbacks are ใช้ได้



ออกจากระบบ | RoiGOo เว็บการ์ตูนหรอยกู | เอกสาร | ไปบนสุด

vBulletin รุ่น 3.8.7
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด