เว็บการ์ตูนหรอยกู

กลับไป   เว็บการ์ตูนหรอยกู > บล็อก > นายโอมเทพไตรกีฬา

Rate this Entry

สำหรับน้องๆวัยรุ่น "การวางแผนการเงินส่วนบุคคล"

โพสเมื่อ 15-09-2011 เวลา 14:27 โดย ohmohm



"แม้พ่อแม่จะเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตกับเรา แต่ที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่รอดได้ก็คือ เงิน..."
คำสุภาษิตของชาวญี่ปุ่นที่ยกมานี้ อาจจะดูแปลกๆพิกล แต่มันก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้โดยสิ้นเชิงว่า การมีเงินมากเพียงพอ จะทำให้ชีวิตของเราอยู่ได้โดยตลอดรอดฝั่ง แต่การจะทำให้มีมากเพียงพอนั้นเป็นภารกิจที่ทุกคนต่างก็ยอมรับกันโดยถ้วนหน้าว่า ยากและหนักหนาสาหัสสากรรจ์เอาเรื่องทีเดียว ไม่ใช่แค่ที่จะต้องมีวินัยในการออมเท่านั้น แต่เรายังต้องมีแผนการลงทุนที่ดีและมีประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคขวากหนามอย่างเช่น ภาษี เงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายเพื่อสนองความต้องการของเราเอง ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินของเราไม่สามารถเพิ่มพูนได้อย่างที่ฝันไว้
การวางแผนการเงินส่วนบุคคล (Personal Financial Planning) คืออะไร

การวางแผนการเงินส่วนบุคคล คือการสร้าง ใช้งาน ปรับปรุง และแก้ไข แผนงานเพื่อความสำเร็จตามเป้าหมายการเงินของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ โดยแนวคิดของแผนเน้นถึง เป้าหมาย นับตั้งแต่จุดแรกเริ่มของการวางแผนการลงทุน มากกว่าการใช้เครื่องมือทางการเงินแบบใดแบบหนึ่ง หรือมากกว่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเงินบางปัญหาเท่านั้น

เป้าหมายทางการเงิน (Financial Goals)

คนเราแต่ละคน ย่อมจะมีเป้าหมายทางการเงินที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อม จุดมุ่งหมายในชีวิต ทัศนคติ และความต้องการตามนิสัยส่วนตัวของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทางการเงินโดยรวมของผู้คนส่วนใหญ่ สามารถแยกแยะออกได้ดังนี้

1. ปกป้องความเสี่ยงเฉพาะตน

- ความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนเวลาอันสมควร
- ความเสี่ยงในการสูญเสียความสามารถในการทำงาน หรือทุพพลภาพ
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
- ค่าใช้จ่ายในการดูแลตนเองในระยะยาว
- การสูญเสียทรัพย์สิน หรือหนี้สิน
- การว่างงาน

2. สะสมเพิ่มพูนทรัพย์สิน
- เพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน
- เพื่อใช้จ่ายภายในครอบครัว
- เพื่อการศึกษา
- เพื่อการลงทุนโดยทั่วไป

3. สำรองเมื่อยามแก่เฒ่า

4. การวางแผนทางภาษี

5. เพื่อการจับจ่ายซื้อหาอสังหาริมทรัพย์

6. เพื่อการบริหารทรัพย์สิน

โดยปกติ ผู้คนจำนวนมากมักจะเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินและการลงทุนหลายรูปแบบ เพื่อที่จะสามารถทำให้ตนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะฉะนั้นเครื่องมือทางการลงทุนพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม ประกันภัย รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการวางแผนการเงินส่วนบุคคล รวมไปถึงการตัดสินใจว่าจะวางนโยบายการลงทุนในรูปแบบใด ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการวางแผนการเงินเช่นกัน นโยบายที่ว่าก็อาจเป็นเรื่องของการจัดสรรแบ่งอัตราส่วนการลงทุนว่าควรจะนำเงินไปลงทุนในหุ้นเท่าไร ตราสารหนี้มากน้อยแค่ไหน และควรจะทำประกันภัยอะไรบ้าง
ในการวางแผนการเงินเราควรจะตั้งสมมุติฐาน ทั้งในแบบที่สมเหตุสมผล และที่อาจจะดูเพ้อฝันไปบ้าง เกี่ยวกับลมฟ้าอากาศ ทิศทางลมทางเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับการจัดทำแผน แต่เมื่อได้แผนมาแล้ว ใครหลายๆคนก็มักจะไม่ค่อยดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ในการตัดสินใจในแต่ละวัน มักจะมีการออกนอกลู่นอกทางเสมอ ขึ้นอยู่กับปัญหาที่วิ่งเข้ามาหา หรือคำบอกเล่าของเหล่านายหน้าโบรกเกอร์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นหลักการสำคัญสำหรับนักวางแผนทางการเงินที่ดี จะต้องช่วยดูแลและนำเสนอนโยบายและแผนการลงทุนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความสามารถในการตัดสินใจการลงทุนสำหรับลูกค้าแต่ละคน
แผนการเงินเหมาะสมกับใครบ้าง

ผู้คนจำนวนมากอยากจะมีแผนการลงทุนที่ดี แต่สำหรับคนที่มีมากหรือพวกที่ร่ำรวยอยู่แล้วก็มักจะหันไปหานักวางแผนการเงินเป็นส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงคนที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ อาจจะมีความต้องการมากกว่าคนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มา หรือมูลค่าของเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น มีความหมายกับคนเหล่านั้นมากกว่าบรรดาเศรษฐีทั้งหลายอย่างแน่นอน และด้วยการศึกษาที่สูงขึ้น การมุ่งมั่นทำงานหนัก ตามมาด้วยความสำเร็จ ก็ยิ่งทำให้ คนทำงานต่างต้องการที่จะได้แผนการเงินและการลงทุนที่แยบยลมากกว่าที่เคยเป็น โดยดูได้จากตัวเลขของคนที่มีรายได้ที่มากพอ มีทรัพย์สิน หรือผู้ที่ได้รับมรดก ที่หันมาใช้บริการของการวางแผนในเรื่องของการลงทุน การวางแผนในเรื่องภาษี หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ภาพรวมของการวางแผนการเงิน ประกอบไปด้วย การสร้างแบบแผนพิเศษหลายลักษณะ ยกตัวอย่างเช่น การวางแผนการลงทุน ซึ่งเน้นการเพิ่มและสะสมมูลค่าของทรัพย์สิน รวมทั้งการบริหารพอร์ตการลงทุนทั้งหมด การวางแผนภาษี คือการวางแผนลดภาระภาษี ปรับถ่ายเท หรือเลื่อนกำหนดการเสียภาษีโดยถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนการบริหารอสังหาริมทรัพย์ เน้นหนักในเรื่องของการวางแผนการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้กับทายาทหรือผู้รับมรดก ทั้งในช่วงระหว่างที่ยังคงมีชีวิตอยู่และหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ของบุคคลนั้นโดยมูลค่าของทรัพย์สินไม่ลดลงไปจากเดิม ในขณะเดียวกัน การทำประกันชีวิต คือการใช้ประโยชน์สูงสุดของกรมธรรม์ประกันชีวิตและสุขภาพ ซึ่งบริษัทประกันก็มักจะนำเสนอสินค้าอื่นๆที่น่าจะช่วยทำให้บรรลุถึงความต้องการของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมหรือการสะสมทรัพย์รายปีต่างๆ (Annuities)

นักวางแผนการเงิน (Financial Planner) นักการธนาคาร นายหน้าหรือ broker นักกฎหมาย นักบัญชี และตัวแทนประกันภัย ต่างก็มีส่วนในการช่วยทำให้ลูกค้าบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินได้ ซึ่งลูกค้าเองก็อาจจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อให้ได้คำแนะนำที่ดีที่สุดจากผู้ชำนาญการแต่ละส่วน จึงอาจกล่าวได้ว่าการร่วมมือกันของแต่ละฝ่ายถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้การวางแผนการเงินประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี ดังนั้นรูปแบบของการนำเสนอของการวางแผนทางการเงิน จึงอาจจะต้องเป็นลักษณะที่เรียกว่า "การนำเสนอภาพรวม" comprehensive approach โดยนำเอาพื้นฐานสำคัญๆของแต่ละส่วนมารวมกัน ซึ่งพัฒนาและรู้จักกันดีในรูปแบบของ "การวางแผนการเงินส่วนบุคคล" personal financial planning
จะต้องสูญเสียเท่าไร ถ้าไม่มีแผน

อย่างที่คนโบราณเคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าเราไม่เตรียมพร้อม เราก็ควรจะเตรียมตัวที่จะล้ม" แต่ผู้คนโดยมากก็มักจะลืมหรือไม่เตรียมวางแผนเอาไว้ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งแนวคิดหรือทัศนคติที่มีอยู่ในตัวเราหลายคน ที่ว่า ไม่ได้มีทรัพย์สินหรือรายได้มากมายพอที่จะต้องการการวางแผน หรือไม่ฐานะการเงินก็อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า อยู่ตัวอยู่แล้ว ซึ่งข้อสมมุติฐานทั้งสองข้อ ถือว่าไม่ถูกต้อง หรือบางท่านอาจจะกลัวการวางแผน เพราะจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์นัก อย่างเรื่องของการเสียชีวิต พิการทุพพลภาพ การไม่มีงานทำ สูญเสียทรัพย์สิน หรือการไร้ซึ่งความสามารถในการทำมาหากิน สุดท้ายหลายท่านก็คิดหนักกับค่าบริการในการให้คำปรึกษาทำให้ต้องเลื่อนการตัดสินใจที่จะลงมือทำอะไรต่อไป

ในขณะที่เรามีเหตุผลซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าทำไมเราจึงไม่ใส่ใจกับการวางแผนการเงิน แต่ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขาดแผนที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งนั้น มีทั้งการสูญเสียโอกาส ภาระภาษีที่หนักเกินความจำเป็น รวมไปถึงการสูญเสียส่วนบุคคลบางอย่างซึ่งอาจจะสูงมากจนคาดไม่ถึง อาทิเช่น ครอบครัวอาจจะไม่ได้รับความคุ้มครองหรือได้รับความคุ้มครองแต่ไม่เพียงพอ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าพึงประสงค์ ทั้งการเสียชีวิตของผู้นำครอบครัว หรือพิการทุพพลภาพ การเจ็บป่วยที่ร้ายแรง อุบัติเหตุทางรถยนต์ การว่างงานที่ยืดเยื้อติดต่อกันยาวนาน หรือความเสี่ยงของชีวิตในรูปแบบอื่นๆที่มีอยู่มากมายในสังคมสมัยนี้ จากตัวเลขในสหรัฐอเมริกา พบว่า ในบรรดาผู้พิการ 40 ล้านคน มีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น ที่เกิดความพิการมาตั้งแต่กำเนิด เพราะฉะนั้นโอกาสของความเสี่ยงต่อร่างกายและชีวิตของคนเรานั้น มีไม่น้อยเลยทีเดียว

นอกจากนั้นแล้วเราก็อาจจะไม่สามารถจัดหาทุนรอนได้เพียงพอกับค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายเมื่อตอนเกษียณอายุ หรือเพียงพอกับความต้องการบางอย่างในอนาคตที่อาจจะโผล่ขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว
ส่วนครอบครัวซึ่งมีธุรกิจเป็นของตนเอง หากขาดการวางแผนที่ดี เมื่อเกิดเหตุเสียชีวิตของผู้นำครอบครัว หรือพิการทุพพลภาพ การสืบทอดธุรกิจอาจกระท่อนกระแท่น หากผู้นำคนใหม่กำลังอยู่ในช่วงอารมณ์ของการสูญเสีย หรือขาดไร้ซึ่งประสบการณ์ จนไม่สามารถปกครองลูกจ้าง พนักงาน ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบริหารทรัพย์สินที่สลับซับซ้อนได้ ลงทุนในช่วงที่อารมณ์แปรปรวนไม่เหมาะที่จะตัดสินใจ

ในขณะเดียวกับที่ผู้คนรอบข้างต่างก็พยายามจะแสดงความคิดเห็นแนะนำ แต่ก็เพียงเพื่อประโยชน์ของผู้ที่อยู่รอด ไม่มองไปถึงผลลัพธ์ที่จะตกถึงลูกถึงหลานซักเท่าไรนัก
ค่าความเสียหายอีกแบบหนึ่งสำหรับผู้ที่มีจุดมุ่งหมายแต่ขาดการวางแผน อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่คนเหล่านั้นยึดติดอยู่กับนายจ้างเดิม ขลาดกลัวไม่กล้าที่จะเปลี่ยนงาน เพราะไม่สามารถรับมือกับต้นทุนที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการมีแผนบริหารการลงทุนส่วนบุคคลที่ดี จะสามารถทำให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างที่ต้องการ
เริ่มต้นกันดีกว่า

ขั้นตอนของการวางแผนทางการเงินโดยปกติแล้ว เป็นเรื่องของการแปลความเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายของบุคคลหนึ่งบุคคลใดออกมาเป็นแผน หลังจากนั้นจึงแก้สมการออกมาเป็นเรื่องของการเงินและการลงทุนเพื่อดำเนินการให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งขั้นตอนต่างๆมักจะประกอบไปด้วย

ขั้นที่ 1รวบรวมข้อมูลด้านการเงิน

การจะวางแผนกิจกรรมต่างๆให้ได้ดี จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลพื้นฐานที่สมบูรณ์พร้อม ซึ่งข้อมูลที่ต้องการจะมากน้อยหรือเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ แต่ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องของการลงทุนส่วนบุคคล รายได้และรายจ่าย กรมธรรม์ประกันภัยที่ถืออยู่ การเตรียมการเมื่อเกษียณอายุ หรือไม่ก็เรื่องของพินัยกรรม ซึ่งขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลอาจจะไม่จำเป็นต้องลึกถึงแก่น หรือมากมายเป็นกองพะเนิน เพราะในบางครั้งแค่ข้อมูลน้อยนิดก็อาจจะทำให้แผนงานสำเร็จลงได้ หากเรารู้ว่าเรากำลังมองหาอะไร

ขั้นที่ 2< กำหนดเป้าหมาย

เป็นเรื่องจำเป็นอยู่เองที่เราจะต้องกำหนดเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนและตรงประเด็นให้ได้มากที่สุด และเมื่อเราได้เป้าหมายมาแล้ว ก็ต้องเข้าใจเอาไว้ด้วยว่า เป้าหมายที่ว่านี้อาจจะไม่คงอยู่ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ สิ่งใดที่เหมาะสมหรือคิดว่าดีสำหรับคู่หนุ่มสาวเมื่อกำลังอยู่ในช่วงฮันนีมูน อาจจะไม่เข้าท่ากับครอบครัวที่มีลูกกำลังเรียนมหาวิทยาลัย หรือคู่ตายายที่กำลังจะย่างเข้าวัยเกษียณอายุ

ขั้นที่ 3 วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน สรรหาทางเลือก

ขั้นตอนที่สามของกระบวนการวางแผนคือการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของบุคคล ที่จะมีผลต่อเป้าหมาย และการสรรหาทางเลือกเพื่อแก้ไขข้อเสียที่ตรวจพบ บ่อยครั้งที่บุคคลอาจจะเน้นหนักในบางเรื่อง แต่พร่องไปในส่วนอื่น เพราะฉะนั้นการปรับสมดุลของทุกส่วนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

ขั้นที่ 4 พัฒนา และปรับเปลี่ยนแผน

อย่างที่เคยกล่าวเอาไว้แล้วว่า แผนการเงินและการลงทุนหนึ่งแผน ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม ความสลับซับซ้อนของสิ่งที่อยู่รอบตัว เพราะฉะนั้นข้อเสนอแนะที่ได้ย่อมจะแตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าคนๆนั้นจะเป็นใคร อีกทั้งแผนก็อาจจะดำเนินต่อไป โดยที่บุคคลนั้นอาจจะไม่สามารถปฏิเสธบางส่วนของแผน ที่เขาเองไม่เห็นด้วย หรือไม่สามารถรับได้

Total Comments 1

Comments

เก่า
ohmohm's Avatar
ขั้นที่ 5 ทบทวนรายปี เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม

ไม่มีแผนการเงินใดที่สามารถจัดทำ นำไปใช้แล้วจบได้ในครั้งเดียว ในเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป แผนก็ควรจะมีการเปลี่ยนแปลง เหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของบุคคลมีทั้งการเกิด การแต่งงาน การหย่าร้าง การเสียชีวิต เปลี่ยนงาน รวมทั้งปัจจัยอื่นๆที่ก้าวเข้ามาในชีวิต ซี่งมีผลทำให้เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนการให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนที่ว่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่า บุคคลจะสามารถละเลยหรือขาดวินัยในการปฏิบัติตามแผนที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ประเด็นควรจะอยู่ที่ว่า หลังจากที่ปฏิบัติผ่านไปแล้วในแต่ละปี เราควรมาศึกษา ปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น
คำตอบสุดท้าย

ไม่ว่าจะมีแผนการเงินเพียงหนึ่งแผน หรือมากกว่านั้น แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะสามารถรับประกันถึงผลที่ออกมาได้ เช่นเดียวกับการลงทุน แผนการเงินเป็นเรื่องของความน่าจะเป็น เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่คาดการณ์ ไม่ใช่เรื่องของความแน่นอน แต่โดยอาศัยความรู้ และวินัยในการปฏิบัติของบุคคลนั้น เราเชื่อว่า โลกจะเป็นของคนที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าเสมอ
permalink
โพสเมื่อ 15-09-2011 เวลา 14:28 โดย ohmohm ohmohm is offline
 



ออกจากระบบ | RoiGOo เว็บการ์ตูนหรอยกู | เอกสาร | ไปบนสุด

vBulletin รุ่น 3.8.7
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด